คลานดีกว่าไม่ก้าว

โมนิกา ลูวินสกี้ (Monica Lewinsky) พูดถึงการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ (cyber bullying) และวัฒนธรรมของการดูถูกเหยียดหยาม (culture of humiliation) รวมถึงทางออกในการแก้ปัญหาได้จับใจมากๆ

เธอบอกว่า “…การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากอะไรบางอย่างที่เรียบง่าย แต่ทำได้ไม่ง่าย (simple, but it’s not easy) เราต้องย้อนกลับไปสู่ค่านิยมเรื่อง ความเมตตา (compassion) และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ในโลกออนไลน์ เราขาดแคลนเมตตาและเกิดวิกฤตความเห็นอกเห็นใจ นักวิจัยชื่อเบรเน่ บราวน์กล่าวไว้ว่า “ความอับอายไม่อาจรอดพ้น ความเห็นอกเห็นใจไปได้” ฉันเคยเจอวันที่มืดมนสุดๆ ในชีวิต แต่ความเมตตาและเห็นอกเห็นใจจากครอบครัว เพื่อน มืออาชีพที่ให้คำปรึกษาฉัน และบางที แม้แต่คนแปลกหน้า ได้ช่วยฉันไว้ ความเห็นอกเห็นใจ แม้จากคนเพียงคนเดียว ก็สร้างความแตกต่างได้ ทฤษฎีอิทธิพลของเสียงส่วนน้อย เสนอโดยนักจิตวิทยาสังคม ชื่อเซอร์เก้ มอสโควิชี กล่าวว่า แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ถ้ายืนหยัดคงเส้นคงวาอย่างต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นได้ (even in small numbers, when there’s consistency over time, change can happen)…”

ชอบประโยคสุดท้ายมาก เหมาะสำหรับคนที่รู้สึกว่าชีวิตและการทำงานยังไปไม่ถึงไหน “คลานดีกว่าไม่ก้าว” นะคะ และเชื่อว่าโลกใบนี้จะดีขึ้นได้เพราะเมตตาที่มาจากใจค่ะ ^^

https://www.ted.com/talks/monica_lewinsky_the_price_of_shame?language=th

ครูในยุคดิจิทัลกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ภาค 5

Image

การอบรมวันที่ 3 เริ่มด้วยการบรรยายเรื่อง “การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการเป็นพลเมืองและการเรียนการสอนแบบ Active Learning” โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (ที่บางคนอาจคุ้นหน้าคุนตาท่านในทีวี) อาจารย์เริ่มการบรรยายด้วยการตั้งคำถามว่า “คุณลักษณะบัณฑิตที่จบไปคืออะไร?” แล้วแจก post-it ให้เราตอบคนละข้อ นำไปแปะรวมกันไว้ที่กระดานด้านหน้า แล้วถอดออกมาว่ามีประเด็นอะไรบ้าง สรุปเป็นข้อๆ แล้วนำไปลงตารางที่เรียกว่า ตาราง outcomes (ได้ออกมา 4 ข้อ คือ มีความรู้ ใช้ความรู้เป็น เป็นคนดี และเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบตนเองและเป็นกำลังของสังคมได้) จากนั้นให้พวกเราเริ่ม vote ว่าทั้ง 4 ข้อ ปัจจุบันคิดว่าบัณฑิตที่จบไปมี มาก ปานกลาง หรือ น้อย โดยสรุปก็คือ ดูเหมือนว่าเราจะได้บัณฑิตที่มี outcomes ไม่ดีเท่าที่เราอยากให้เป็น อาจารย์ตั้งคำถามต่อว่า “สาเหตุของการได้ outcomes ไม่ดี คืออะไร” คำตอบคือ สังคม ค่านิยม หลักสูตร วิธีการสอน ครอบครัว และการศึกษาพื้นฐาน ซึ่งก็คงถูกทุกข้อ แล้วในฐานะของความเป็นครูในระดับอุดมศึกษาเราจะเปลี่ยนอะไรได้ คำตอบก็มุ่งไปที่ “วิธีการสอน” อาจารย์เลยชวนให้พวกเรา “ใช้ห้องเรียนเปลี่ยนประเทศไทย โดยใช้ active learning”

ก่อนเปลี่ยนประเทศไทย อาจารย์พาเราไปรู้จักมหาวิทยาลัย NUS (National University of Singapore) มหาวิทยาลัย no name ที่สามารถเข้าสู่อันดับ 8 ของโลกภายในเวลา 10 ปี คำถามคือ “เพราะอะไร” คำตอบคือ “เพราะเปลี่ยนวิธีการสอน” ว่ากันว่า การศึกษาไทยที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีลักษณะเป็น input-based education เน้น input ความรู้ ตำรา อาจารย์ การบรรยาย ชั่วโมงเรียน และการสอน (มีลักษณะเป็น passive learning และ teacher centered ศูนย์กลางคือครู) ในขณะที่ของประเทศอื่น (ที่ประสบความสำเร็จ) ออกแบบการเรียนการสอนแบบ outcome-based education มุ่งผลลัพธ์ และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ได้ผลลัพธ์นั้น โดยใช้ active learning และ student centered ศูนย์กลางคือนักเรียน (การศึกษาที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง หมายถึง นักศึกษาต้องพัฒนาตนเอง งานของครูคือการช่วยให้นักศึกษาพัฒนาตนเอง)

อาจารย์เล่าถึง “คำสาปของความรู้” ซึ่งจะเกิดกับผู้ที่มีความรู้เท่านั้น นั่นคือ…”สอนไม่ทัน ต้องสอนชดเชย” เพราะผู้มีความรู้ (ครู) เชื่อว่า “ความรู้เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้เท่านั้น” เราจึงกลายเป็นผู้ส่งผ่านความรู้ที่เรามีอยู่ (อันน้อยนิด) ให้กับผู้เรียน ในเมื่อความรู้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ไม่จีรัง ความรู้ในวันนี้จึงอาจไม่สามารถนำไปใช้ได้อีกในวันหน้า ดังนั้น การสอนให้ศิษย์หาความรู้เป็นและคิดพัฒนาความรู้ใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ว่ากันว่า ครูส่วนใหญ่เสียเวลาไปกับการตั้งคำถามที่นักศึกษาไม่รู้ ศิลปะการตั้งคำถามที่แท้จริงคือ ต้องถามให้ตอบได้ ถ้าถามแล้วนักศึกษาไม่ตอบ แสดงว่า “เราตั้งคำถามผิด” (ฮา) แล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างเรื่องวิวัฒนาการซึ่งกระตุ้นให้เราคิดได้ว่า “condition เป็นหัวใจสำคัญของ active learning (ขนาดลิงยังกลายเป็นคนได้เมื่อ condition เปลี่ยน แล้วทำไมสิ่งอื่นๆ (นักศึกษา) จะเปลี่ยนไปไม่ได้ หากเราปรับ condition) ชอบที่อาจารย์ยกตัวอย่างว่า สมองของนักศึกษาก็เหมือน smart phone แต่เราให้เขาทำแค่ mem เบอร์ (ท่องจำ) ทั้งๆ ที่เขาทำได้มากกว่านั้น

ในช่วงสุดท้ายของการบรรยาย อาจารย์แนะนำเทคนิคในการตั้งคำถาม คือ
1) คำถามปลายเปิด – ยกปัญหาหรือข่าวที่เกิดขึ้นและถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไร
2) ตั้งคำถามว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย จากนั้นให้แต่ละข้างแสดงความคิดเห็น (คำตอบไม่มีถูกผิด) โดยยกตัวอย่างอาจารย์ที่เก่งในการตั้งคำถามอย่าง Michael J. Sandel (ผู้แต่งหนังสือ เงินไม่ใช่พระเจ้า) อาจารย์เสริมว่า ถ้ามีเหตุการณ์ที่นักศึกษาบางคนไม่ยอมยกมือจะทำอย่างไร ให้สร้าง condition ว่า “ถ้าใครไม่ยกมือ ครูจะถาม” (ฮา)
3) ตั้งคำถามโดยมีตัวเลือก 2 อัน โดยถามว่าอะรคือคำตอบหรืออะไรสำคัญกว่า (เป็นคำถามที่รู้คำตอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะตั้งคำถามกี่ครั้ง คำตอบก็เหมือนเดิม)
4) ให้นักศึกษาตั้งคำถามเอง เช่น ให้นักศึกษาจับกลุ่ม ดูภาพ แล้วจับฉลากเลือกกลุ่มขึ้นมาตั้งคำถาม อาจให้ทุกกลุ่มตั้งคำถาม แล้วเลือกคำถามที่ดีที่สุดมาอภิปรายต่อ
สิ่งสำคัญคือ ให้นักศึกษามีโอกาสได้คิด และคำถามเท่านั้นที่จะให้เกิดการคิด (การ lecture คือ การให้คำตอบ ไม่ใช่ “การตั้งคำถาม”) และเมื่อเฉลย ควรจะต้องเฉลยแบบมี surprise แล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างเรื่อง surprise ให้ดู

หลังจากนั้นอาจารย์สอนให้เราฝึกเทคนิคต่างๆ ที่ได้สอนมา โดยบูรณาการเข้ากับหัวข้อ “การเป็นพลเมือง” ซึ่งเกี่ยวโยงถึงเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยอาจารย์เน้นว่าเทคนิคพื้นฐานของ active learning อีกประการหนึ่งคือ จะไม่สอนก่อนแล้วยกตัวอย่าง แต่จะใช้ “ตัวอย่าง” เพื่อสอน เช่น สอนเรื่องการแบ่งเค้กที่โยงไปถึงทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ (คนที่แบ่งเค้ก ต้องไม่ใช่คนเลือก = คนที่มีอำนาจ ต้องไม่ใช่คนที่ได้ประโยชน์) และการให้โจทย์กับนักศึกษา ยังไม่จำเป็นต้องรีบตอบ แต่ให้วิเคราะห์โจทย์ก่อน เช่น เรื่อง สิทธิในการเป็นเจ้าของมะม่วง (มะม่วงของนาย ก ยื่นกิ่งเข้าไปในบ้านนาย ข มะม่วงที่หล่นในบ้านนาย ข เป็นของใคร) ซึ่งหากต้องการฟังโดยละเอียดและได้อรรถรส ต้องไปฟังจากอาจารย์เองค่ะ ^^ ที่สำคัญ active learning ต้องมี reflection และการประเมิน “ผล” เสมอ

อาจารย์ยังตั้งคำถามอีกว่า “ทำไมคนจึงติดละครหลังข่าว?” ถ้านักศึกษาติดการสอนของเราเหมือนละครหลังข่าวจะดีแค่ไหน เพราะฉะนั้น การสอนจึงควรต้องสนุกและทำให้อยากติดตามตอนต่อไป ซึ่งอาจใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง ช่วยสร้างความประหลาดใจ และชวนติดตาม อาจารย์จึงใช้เรื่องเล่า Graylag Goose ที่ยังเฝ้าเขี่ยไข่ (ที่ไม่มีจริง) เปรียบเทียบกับพวกเราที่ยังคงเฝ้าง่วนทำอะไรกับการเรียนการสอนที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่ต้องการจริง แล้วจบด้วยเรื่องเล่าการเก็บเศษแก้วตามชายหาด ซึ่งสรุปได้ว่า (อาจารย์ชี้ไปยังกระดานที่เขียนว่า สาเหตุของการได้ outcomes ที่ไม่ดี ซึ่งมีอยู่หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเกิดจากครอบครัวหรือการศึกษาพื้นฐาน) ไม่ว่าใครจะทำแตกไว้แค่ไหนก็ตาม,,,มาเก็บเศษแก้วกันเถอะ!!!

หลังการอบรมวันที่ 3 ก็คงเป็นเรื่องที่พวกเราแล้วล่ะค่ะ ว่าจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้กับการเรียนการสอนในปัจจุบันได้อย่างไร สิ่งสำคัญคือ การลงมือทำ เพราะผู้รู้บอกว่า “ความรู้ที่มีมาก หากใช้ไม่เป็น ก็หามีประโยชน์อันใดไม่”

ครูในยุคดิจิทัลกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ภาค 4

ในช่วงบ่ายของวันที่ 2 ของการอบรม ได้มีโอกาสฟังการบรรยายของ รศ.นพ.อนุภาพ เลขะกุล เรื่อง “การจัดประสบการณ์การเรียนรู้เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน” ซึ่งต้องออกแบบการเรียนตั้งแต่การตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หมวด ประกอบด้วย
1) พุทธิพิสัย (cognitive domain) เป็นวัตถุประสงค์ด้านความคิด การใช้ปัญญา (ความรู้) เช่น จำ เข้าใจ แก้ปัญหาที่ยากได้ — Head
2) ทักษะพิสัย (psychomotor domain) เป็นวัตถุประสงค์ด้านความสามารถ (ทักษะ) ที่แสดงออกทางกาย เช่น สร้าง ประกอบ ทำ — Hand
3) จิตพิสัย (affective domain) เป็นวัตถุประสงค์ด้านความรู้สึก ท่าที ค่านิยม (เจตคติ) แสดงออกด้วยความรักความชอบ — Heart

โดยทั่วไปเรามักนิยมสร้างวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเพื่อวัดในแต่ละหมวด การเลือกใช้คำเพื่อบ่งบอกการวัดในแต่ละหมวดจึงมีความสำคัญ (ได้มาจาก Bloom’s Taxonomy: http://www.learningandteaching.info/learning/bloomtax.htm#ixzz356RwXSdf) ตัวอย่างคำกิริยาที่แสดงพฤติกรรม ได้แก่
หมวดพุทธิพิสัย-บอก บรรยาย นิยาม อธิบาย อภิปราย สรุป แยกแยะ แปลผล จำแนก เปรียบเทียบ หาความสัมพันธ์ วิเคราะห์ ประเมิน สรุป
หมวดทักษะพิสัย-ทำ สร้าง ปฏิบัติ ฝึก แสดง สาธิต ทำหัตถการ ใช้เครื่องมือหมวดจิตพิสัย-อภิปราย เสนอแนะ มีส่วนร่วม ต่อต้าน ปฏิบัิ ผสมผสาน สนับสนุน เปรียบเทียบ ให้ความสำคัญ

วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมประกอบด้วย 4 ส่วน (ABCD)
A = Audience ผู้เรียนเป็นใคร
B = Behavior ผู้เรียนทำอะไรได้
C = Condition ทำได้ในสภาพการณ์อะไร
D = Degree ระดับความสามารถ

ตัวอย่าง
“เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอน นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 สามารถบอกสาเหตุของอาการเหนื่อยหอบได้ด้วยตนเองอย่างน้อย 5 ข้อ”

หรือตัวอย่างตามภาพประกอบ
Image

นอกจากนี้อาจารย์ยังได้พูดถึงการเรียนการสอนปัจจุบันซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “เราใช้หลักสูตรในศตวรรษที่ 19 ที่มีผู้สอนอยู่ในศตวรรษที่ 20 สอนผู้เรียนที่อยู่ในศตวรรษที่ 21” ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงยากที่จะได้ผลลัพธ์ (ทักษะในศตวรรษที่ 21) ที่เราต้องการ ที่ผ่านมาเรามีครูที่พูดมากกว่าฟัง แถมยัง Knows MOST, Knows BEST, Knows ALL (แสนรู้ ^^) บ้างก็เชื่อว่า ถ้าไม่ได้ lecture นักเรียนจะไม่ได้เรียน

หลักคิดใหม่ของการศึกษาคือ ให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูเป็นผู้ตั้งคำถาม (เป็นดาวยั่ว) ยั่วให้คิด ยั่วให้สงสัย ยั่วให้อยากรู้ ที่สำคัญคือ “ห้ามถามเอง ตอบเอง” อาจารย์บอกว่าครูไทยรอไม่ค่อยได้ ว่ากันว่าต้องใช้เวลา 5 วินาทีในการรอให้เด็กเปิดปากพูด แต่ครูไทยรอได้แค่ 3 วินาที (ฮา) ในศตวรรษที่ 21 ครูจึงควรฟังมากกว่าพูด และต้องปรับ mind set คือไม่คิดว่า “อะไรก็สำคัญไปหมด” ต้องถามว่า มันสำคัญสำหรับผู้เรียนจริงๆ ไหม และควรเน้น quality of learning มากกว่า quality of teaching และเนื่องจากเด็กในยุคปัจจุบันเป็นเด็กที่นิยมความสำเร็จ (very achievement oriented) คืออยากรู้ว่า ทำแล้วได้อะไร ตัวอย่างเช่น เด็กติดเกมส์ เพราะเกมส์มี achievement คือ ชนะแล้วได้รางวัล ซึ่งเราอาจต้องมาปรับกลยุทธ์การสอนให้เด็กมองเห็นความสำเร็จชัดๆ เขาจะได้ติดการเรียนมากขึ้น (ตอนนี้ผู้เขียนยังนึกไม่ออกว่า มันจะคือกลยุทธ์อะไร แต่อาจารย์ท่านต่อไปในภาค 5 ให้คำตอบได้)

ครูในยุคดิจิทัลกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ภาค 3

Image

การอบรมวันที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง “จิตวิญญาณความเป็นครู” โดย รศ.ดร.สุวิมล เขี้ยวแก้ว อาจารย์กล่าวถึงหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตบัณฑิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน้าที่ในการ enlighten (give (someone) greater knowledge and understanding about a subject or situation) ผู้เรียนด้วย และครูแบบไหนล่ะ จึงจะสามารถ enlighten ศิษย์ได้? อาจารย์สุวิมลได้ให้ผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มสรุปบทบาทของครูในอดีตที่เราประทับใจทั้งบทบาทด้านการสอนและความเป็นมนุษย์ จากลักษณะครูที่เราประทับใจที่ได้ทั้งหมด นำไปสู่คำถามที่ว่า ถ้าเราต้องการครูแบบนี้ลองถามตัวเองว่า “ตัวเราเองเป็นอย่างไร?” และ “ทำอย่างไรจึงจะติดอยู่ในจิตสำนึกและความทรงจำของศิษย์ (ในทางที่ดี) ได้?” และเมื่อพูดถึง “จิตวิญญาณความเป็นครู” จริงๆ แล้วคือ ความรู้สึกของการอยากพัฒนาคน (ให้เป็นคนเก่ง คนดี คนที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ฯลฯ) เท่านั้นเอง

หลังจากนั้น ผศ.ดร.สุดาพร ลักษณียนาวิน ได้พูดถึง social constructivism และการเรียนการสอนในสังคมฐานความรู้ ซึ่งระบุว่า การเรียนรู้ไม่ใช่การทำตามแบบครู (ศิษย์จะเก่งกว่าครูได้อย่างไร ถ้ายังเดินตามครูต้อยๆ และไม่เคยคิดต่าง) อาจารย์กล่าวว่า “คนเป็นครูมักถูกคลุมถุงชน..ให้เป็นครู” (ด้วยคำว่า “เรียนเก่ง”) หลายคนถูกผลักดันเข้ามาในวงการ (ฮา) ความรู้สึกแรกอาจมีทั้งชอบและไม่ชอบ แต่เมื่อเราตัดสินใจที่จะเลือกอาชีพนี้แล้ว ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันและรักมัน (นึกถึงคำพูดของอาจารย์คิมรันโดในหนังสือ พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ที่บอกว่า “จงรักในชะตาชีวิตของตนเอง-Amor fati” เมื่อเลือกแล้วที่จะเป็นครู ก็จงเป็นครูที่แบกรับทั้งทุกข์และสุขจากอาชีพนี้) และถ้ารู้สึกว่า “ไม่ใช่” หรือแบกรับ “ไม่ไหว” ก็จงจากไปหาอาชีพที่ถูกกับจริตของตัวเอง

เมื่อพูดถึงอาชีพ ได้มีโอกาสอ่านงานของอาจารย์คิมรันโดชื่อ “แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้” อาจารย์บอกว่าเด็กปัจจุบันมองงานในอนาคตไม่เหมือนเด็กในอดีต เมื่อก่อนเราจะเลือกงานที่ “สังคมยอมรับ” เช่น หมอ วิศวะ ฯลฯ แต่ปัจจุบันงานที่คนรุ่นใหม่มองหาคืองานที่จะทำให้เขามีชีวิตที่มีความสุขในแต่ละวัน และพร้อมจะเสี่ยงกับความไม่แน่นอนในอนาคต เราจึงเห็นหลายคนเลือกที่จะทำงานอิสระแต่มีความมั่นคงต่ำมากขึ้น เช่น ทำร้านกาแฟ กิ๊บช้อป ขายของ online เมื่อทำแล้วไม่ work ก็มองหาอาชีพใหม่ น้อยคนที่จะมองหาอาชีพหรือทำอาชีพที่ต้องอยู่ไปจนเกษียณ

ด้วยเหตุว่าเด็กเป็นคนรุ่นใหม่ การเรียนการสอนจึงต้องมีการปรับตามบริบทของโลกยุคใหม่ด้วย ซึ่งต้องเปลี่ยนจาก custom fit the students to the school เป็น custom fit the school to the students อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนในโลกยุคดิจิทัล ไม่ได้หมายถึงการสอนผ่านคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ไฮเทค  เพราะแท้จริงแล้ว ICT คือ เครื่องมือ (tool) อย่างหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนเท่านั้นเอง ครูหลายคนจึงไม่ต้องกังวลว่าจะต้อง up ความรู้ด้านเทคโนโลยีอีกมากมายแค่ไหนถึงจะสอนได้เข้ากับยุคสมัย แค่ “เป็นตัวของตัวเอง” ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด บางทีการเลือกใช้โปรแกรม power point ง่ายๆ ร่วมกับการตั้งคำถามให้เป็น ก็สามารถสร้างคนให้คิดได้คิดเป็นได้มากกว่าสื่อไฮเทคด้วยซ้ำ (ไว้จะกล่าวถึงเทคนิคนี้ในตอนต่อไป)

โดยสรุป ชอบคำพูดของอาจารย์สุดาพร ที่บอกว่า “นักเรียนทุกคนมีโอกาสเรียนจบ แต่จะไม่พร้อมกัน” คนเป็นครูอ่านแล้วจะได้เลิกคาดหวัง ส่วนคนเป็นนักเรียนอ่านแล้วจะได้มีความหวังค่ะ (ฮา)

ครูในยุคดิจิทัลกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ภาค 2

รูปภาพ

ภาคบ่ายของวันแรกเริ่มจาก ศ.ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ บรรยายเรื่อง “ความก้าวหน้าของอาจารย์” ซึ่งระบุถึงหน้าที่ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย 4 ด้าน คือ ด้านการสอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ที่น่าสนใจคือมุมมองของผู้ประกอบการหรือนายจ้างต่อคุณสมบัติของนักศึกษาที่จบไป สิ่งที่นายจ้างต้องการคือคนทำงานที่มีทักษะในเรื่อง
1) Critical thinking & problem solving = การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ไขปัญหา
2) IT application = การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
3) Teamwork & collaboration = การสื่อสารและการร่วมมือทำงาน
4) Creative innovation = ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
5) Diversity = ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว/คิดริเริ่มและการชี้นำตนเอง/การเข้าสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม/การเพิ่มผลผลิต รวมถึงความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบ
ด้วยความต้องการของสังคมแบบนี้ จึงทำให้การเรียนการสอนในปัจจุบันต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย นั่นคือต้องเน้นการสร้างทักษะที่ผู้เรียนสามารถเอาไปใช้ได้มากกว่าเน้นการสอนเพียง “เพื่อรู้” หรือ “เพื่อสอบผ่าน”

นอกจากนี้เรายังต้องเข้าใจลักษณะของนักเรียนในปัจจุบัน คือ เป็นตัวของตัวเองสูง ความอดทนต่ำ อยากรู้อยากเห็น ท้าทายกฎระเบียบ ทะเยอทะยานสูง คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ชอบการเปลี่ยนแปลง กระตือรือร้น มองโลกในแง่ดีมาก มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มั่นใจในตัวเองสูง ไม่เคารพผู้อาวุโสกว่าโดยอัตโนมัติ และมีความจงรักภักดีต่ำ (Cr.ประสิทธิ์ วัฒนาภา)… โปรดสังเกต คำว่า “ทะเยอทะยานสูง แต่ความอดทนต่ำ” “มองโลกในแง่ดีมาก” (ทำให้ถูกหลอกได้ง่าย โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล) และ “ไม่เคารพผู้อาวุโสกว่าโดยอัตโนมัติ” (เขาจะเคารพ เมื่อเราแสดงให้เห็นว่า เราน่าเคารพ ดังนั้นการเป็นตัวแบบที่ดีก็เป็นเรื่องสำคัญของครูไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด)

ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงมีโอกาสได้ฟังการบรรยายของ ผศ.รัฐสภา แก่นแก้ว Assistant Director for Academic Affairs Media Center: Technology Service Cluster Sripatum University อาจารย์ผู้ได้รับรางวัล The Best Teaching Award ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในเรื่อง “การเรียนการสอนในยุคดิจิทัลและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” การบรรยายของอาจารย์ทำให้นึกถึงคำถามที่ว่า “ทำไมเราต้องสอนสิ่งเดียวกัน ด้วยวิธีการเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุผลเดียวกัน” นั่นคือการจัดการเรียนการสอนในยุคต้องมีความหลากหลาย ต้องรู้ว่าผู้เรียนเป็นอย่างไร จะได้ใจ (ในการเรียนรู้) ของเขาได้อย่างไร  ถ้าเขาเกิดมาพร้อมกับความคุ้นเคยกับ IT ครูเองก็ต้องพาตัวเองให้ไปอยู่ในโลก IT ด้วย การเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวไม่พอ และอาจใช้ไม่ได้ในอนาคต เพราะ learning in the digital age คือ “No Lecture” (ซึ่งอาจารย์กำลังพยายามทำอยู่)

การเป็นครูจึงต้องมีความเข้าใจศิษย์มากกว่าแค่ถ่ายทอดความรู้ให้ศิษย์ เพราะเขาบอกกันว่า ความรู้เป็นสิ่งที่งอกอยู่ในตัว ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะถ่ายทอดให้ใครได้ (Cr.วิจารณ์ พานิช) ครูจึงจำเป็นต้องคิดถึงศิษย์ในแง่ของ สิ่งที่ใจคิด สถานที่ที่ไป ภาษาที่ใช้ พฤติกรรม และเครื่องมือที่ใช้ เพื่อ fishing where the fish are ไม่ใช่การรอให้ศิษย์เข้ามาหาเพียงอย่างเดียว และสิ่งที่ควรค่าแก่การเปลี่ยนแปลงมาที่สุดคือ “ครูต้องเปลี่ยน” ทั้งเรื่องวิธีคิดและกระบวนการเรียนการสอน

อาจารย์แนะนำกลยุทธ์การสอนหลายแบบที่ช่วยดึงใจเด็กให้อยู่กับเราในห้อง (หากต้องสอนในห้องเรียน) การสอนแบบ anywhere and anytime (แต่ไม่ใช่ช่วง 4 ทุ่มถึงตี 5..ครูต้องมีเวลาส่วนตัวด้วย ดังนั้นการสร้าง “กติกา” จึงสำคัญ) การใช้ social media และเทคโนโลยีช่วยสอน ที่ทำให้เรามี “ลีลา” การสอนน่าสนุกเร้าใจ ทำให้นึกถึงคำที่ว่า “Studying and learning process should bring joy.” เด็กที่มีความสุข จะเรียนรู้ได้มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์เก่งๆ พูดตรงกันเสมอ

You can’t be me. But, you can be the best version of you. คือคำพูดที่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้ และผู้เขียนก็เชื่อว่า หากเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็น “ครูที่ดี” เราจะหาทางไปยังจุดที่เราตั้งเป้าหมายไว้เสมอ มาลองหาทางเป็น “ครูเพื่อศิษย์” ในยุคดิจิทัลกันตามแบบฉบับของตัวเอง แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะคะ ^^

 

ครูในยุคดิจิทัลกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ภาค 1

รูปภาพ

วันแรกของการเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “ก้าวแรกสู่อาจารย์มืออาชีพ” รุ่นที่ 12 ที่จัดขึ้นโดยสมาคมเครือข่ายพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท.) ซึ่งสนับสนุนโดย สกอ. ได้มีโอกาสเรียนรู้หลักคิดการเป็นครูเพื่อศิษย์จากครูต้นแบบหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ศ.ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ และ ผศ.รัฐสภา แก่นแก้ว

เริ่มจากท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ บรรยายถึง “ความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” (ท่านจะเป็นมือหนึ่งในเรื่องนี้ เห็นการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ไหน ก็ดูเหมือนว่าพบท่านได้ที่นั่น) อาจารย์พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (เปิดกว้าง ไม่แน่นอน ซับซ้อน ความรู้หาง่ายแต่ก็เป็นความรู้ที่ผิดๆ เยอะ) ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของปรัชญาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (เป็นการศึกษาเพื่อทุกคน ไม่ใช่แค่คนกลุ่มอายุ 18-24 ปี เพื่อเตรียมชีวิตไม่ใช่เพียงเพื่อรู้วิชา ถูกมองว่าเป็นสินค้า รับช่วงมาจากการศึกษาพื้นฐานที่อ่อนแอ และคงจะอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยต่อไปอย่างเดียวไม่ได้) เป้าหมายคือเพื่อสร้างผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งจะทำได้หากเราเข้าใจผู้เรียนหรือนักศึกษาในยุคปัจจุบันที่ล้วนมีลักษณะพิเศษ ไม่มีทางเหมือนและไม่เคยเหมือนนักศึกษาในอดีต

ว่ากันว่าเด็กในศตวรรษที่ 21 เป็นเด็กที่มีความรู้มากทั้งความรู้ผิดๆ และที่ถูกต้อง และด้วยการเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ “ได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ต้องพยายาม” ทำให้เด็กเหล่านี้อาจขาดทั้งแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่น และบางครั้งก็ขาดวุฒิภาวะในเรื่องการเรียน อย่างไรก็ตาม ข้อดีของพวกเขาคือ เก่ง IT มีลักษณะการเรียนรู้แบบ multitask (ฟังเพลง เล่นเกม คุยกับคนอื่นได้ในเวลาเดียวกัน) และ “เคารพข้อตกลง” ดังนั้นการตกลง “กติกา” ในเรื่องการเรียนการสอนที่ชัดเจน จะช่วยให้ครูไม่เหนื่อยกับพฤติกรรมแย่ๆ (ตามมุมมองของครู) ของศิษย์ นอกจากนี้ครูต้องทำความรู้จักกับศิษย์แห่งศตวรรษที่ 21 ให้มาก (เอาใจใส่) ทั้งยังควรเปลี่ยนท่าทีจากการที่ให้เด็ก respect เราเพียงฝ่ายเดียว เป็นการ “เคารพซึ่งกันและกัน” (mutual respect)

การเรียนการสอนในปัจจุบันไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อรู้ แต่ต้องได้ทักษะและได้ “นิสัย” ที่ดีงามด้วย ดังนั้นเป้าหมายการเรียนการสอนจึงไม่ใช่ “การสอนครบ” แต่คือการได้เห็น “พัฒนาการ” ของศิษย์ เพื่อให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้ที่งอกงามจากภายใน (transformative learning) เกิดภาวะผู้นำ จนได้ผลลัพธ์เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agents) วิธีการสอนจึงต้องเปลี่ยนไปตามเป้าหมาย ต้องสอนแบบ active learning (ลงมือทำ ร่วมกับทีม และมี reflection) หน้าที่ของครูคือการตั้งคำถาม ซึ่งควรตั้งคำถามด้วยความเมตตา ไม่ใช่ด้วยความเกรี้ยวกราด และต้องเชื่อว่า “หนึ่งคำถามมีหลายคำตอบ” เพราะความรู้จะถูกหรือผิดขึ้นกับบริบทบางประการด้วย (ชอบที่อาจารย์บอกว่า บาปของการศึกษาประการหนึ่งคือการทำให้เด็กไม่มีความคิดต่าง) ครูที่ดีจึงควรพูดให้น้อย ฟังให้มาก พัฒนาตัวเองสม่ำเสมอโดยเฉพาะเรื่อง IT และต้องเป็น designer และ facilitator (ด้านการเรียนการสอน) มากกว่า lecturer

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จึงควรใช้วิธีการที่หลากหลายแตกต่างผสมผสานกัน ยึดหลัก teach less, learn more เรียนโดยลงมือทำ (active learning) และทบทวนไตร่ตรอง (AAR/Reflection) เรียนเป็นทีม เน้นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เน้นสอบเพื่อการพัฒนา (formative assessment) เพื่อให้รู้จริง (mastery) โดยอาจใช้วิธีการเรียนแบบห้องเรียนกลับทาง (flipped classroom) และหากมีการ feedback ต้องเป็น feedback ที่ทำให้ศิษย์รู้สึกมีความ “มุมานะที่จะเรียน” ไม่ใช่รู้สึกว่าตัวเองโง่และอับอาย (ขอเสริมด้วยคำพูดของไอสไตน์ที่ว่า – Everybody is a genius. But if you judge a fish by its ability to climb a tree, it will live its whole life believing that it is stupid.-) และครูต้องเอาใจใส่เด็กที่เรียนอ่อนด้วย

เมื่อวิธีการเรียนรู้เปลี่ยน ครูเองก็ต้องเปลี่ยนด้วย คือต้องทำตนเป็น “ผู้ไม่รู้” เน้นตั้งคำถามท้าทาย กระตุ้นให้ศิษย์เกิดความใคร่รู้ (challenge-based learning) แต่อาจารย์บอกว่าต้องระวังอย่าให้ท้าทายมากไป ลูกศิษย์จะหนีได้ (ฮา) ต้องสร้าง “ชุมชนเรียนรู้…ครูเพื่อศิษย์” (PLC: Professional Learning Community) โดยอาจารย์ยกตัวอย่างการเรียนการสอนในประเทศฟินแลนด์ ที่ครูหลายคนจะนั่งฟังเด็กนำเสนอจนจบโดยไม่ตั้งคำถามขัดจังหวะ แต่จะจดประเด็นสำคัญไว้ แล้วจะนำประเด็นเหล่านั้นไปคุยกันว่าจะช่วยให้เด็กเกิดการพัฒนาในด้านที่ขาดไปอย่างไร

ในการบรรยายช่วงสุดท้ายอาจารย์บอกว่า “การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว” พึงใช้จินตนาการ พีงแสวงหาวิธีการริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตัวของท่านเอง (ฮารอบสอง) ใครอยากรู้เรื่อง ส้นตีน เอ้ย SOLE หรือ Self Organized Learning Environment วิธีการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเรียนการสอน ควรไปค้นต่อค่ะ ^^

สงสัยต้องต่อภาค 2 พรุ่งนี้ซะแล้ว….

The Singaporean Fairytale

2014-02-16 07.34.39

เคยได้ยินชื่อโครงการ The Singaporean Fairytale กันไหมคะ?

ว่ากันว่า เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยกลุ่มนักศึกษาด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง 4 คน ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Superglue ของสภาครอบครัวแห่งชาติประเทศสิงคโปร์

เรื่องมันมีอยู่ว่า…(เริ่มแบบนี้ เพื่อให้เข้ากับชื่อโครงการ ^^) ปัจจุบันอัตราการเกิดของเด็กในประเทศสิงคโปร์ต่ำกว่าอัตราปกติ เพราะหนุ่มสาวยุคใหม่นอกจากจะไม่นิยมมีลูกแล้ว ยังมีชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันที่ยาวนานขึ้น รัฐบาลเลยต้องยื่นมือเข้ามาช่วยจัดการ “ความรัก” ให้ ซึ่งโครงการ The Singaporean Fairytale ก็เป็นหนึ่งในนั้น

โครงการดังกล่าวเป็นการนำนิทาน 15 เรื่องมาใช้เป็นสื่อเพื่อกระตุ้นให้หนุ่มสาวตระหนักถึงความสำคัญของการแต่งงานและการมีบุตรในเวลาที่เหมาะสม อย่างเช่น เรื่องของ Alice in Wonderland ซึ่งในนิทานระบุว่า อลิซ เป็นตัวแทนของสาวสมัยใหม่ผู้รักอิสระ ที่มาพร้อมกับคำเตือนว่า…ความสามารถในการมีบุตรจะลดลงตามวัย โดยหลังอายุ 40 ปี โอกาสดังกล่าวจะลดลงถึงร้อยละ 95 อั๊ยย่ะ!! (รู้สึกว่าคำเตือนนี้จะส่งมาถึงสาวไทยบางคนช้าไปนะ 555)

อ่านแล้วน่ารักดีค่ะ เลยอยากบอกต่อ ใครสนใจนิทานเรื่องอื่นเพิ่มเติม หาอ่านได้จาก http://www.thesingaporeanfairytale.com/ นะคะ ^^

อ้างอิง
มนฑิณี ยงวิกุล. 2557. รักนี้ “รัฐ” จัดให้. Creative Thailand, 5 (5), หน้า 6.

ลปรร. การสอนแบบไม่บรรยายเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กยุคใหม่

board-vicharn

วันนี้มีโอกาสไปฟังการบรรยายเกี่ยวกับการสอนแบบไม่บรรยายเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กยุคใหม่ โดย ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช เลยมีเรื่องมา ลปรร. (ย่อมาจาก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ^^) ให้กับคนอื่นๆ ได้ฟังค่ะ อาจารย์พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ทำให้การรับรู้และการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป เด็กเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายเพราะเทคโนโลยี แต่บ่อยครั้งที่ข้อมูลเหล่านั้นเป็นความรู้ผิดๆ ขาดการกลั่นกรอง  และไม่อาจบอกได้ว่าเป็นความรู้ที่ทันสมัยแค่ไหน

นอกจากนี้การเรียนรู้ปัจจุบันยังเป็นการเรียนรู้แบบผิวเผิน โดยพบว่ามีนักเรียนแค่ 20% เท่านั้นที่บรรลุการเรียนรู้แบบจริงๆ (mastery learning)  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทายที่ครูในปัจจุบันจะต้องเอาใจใส่พัฒนาศิษย์อย่างจริงจัง โดยต้องดูครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ intellectual (วิชาความรู้), emotional, social, spiritual และ physical (โดยทั่่วไปเรามักดูเรื่องของ intellectual เป็นหลัก…อาจารย์บอกว่ามันไม่เพียงพอต่อการมีชีวิตที่ดีของลูกศิษย์)

นอกจากนี้อาจารย์ยังบอกว่า การศึกษาในปัจจุบันก็เป็นการศึกษาแบบศตวรรษที่ 20 คือเน้นการสอนมากกว่าการเรียน (เพราะมันสะดวกกับครู) ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง คือครูต้องเป็นโค้ช (facilitator) มากกว่าผู้สอน (teacher) และต้องเน้นให้เด็กเรียนให้ได้ทักษะ (skill) มากกว่าความรู้ (knowledge) ซึ่งนักเรียนเองก็ต้องเป็น active learner ด้วย ว่ากันว่า การเรียนรู้เป็นผลของการกระทำและการคิดของนักเรียน ไม่ได้มาจากการถ่ายทอดของครู ดังนั้นครูต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสอนให้น้อย ส่งเสริมให้เด้กเรียนรู้มาก (Teach less, Learn more) หรือคิดกระบวนการเรียนการสอนที่ช่วยให้เด็ก “สร้าง” มากกว่า “เสพ” ความรู้ (วิธีการบรรยาย อ่าน ดูวิดีโอ สาธิต เรียกว่าเป็นการเสพความรู้ ในขณะที่ การอภิปรายกลุ่ม การเรียนรู้โดยการลงมือทำ และการสอนคนอื่นได้ ถือเป็นการสร้างความรู้)

อาจารย์มองว่าความรู้เป็นสิ่งสมมติ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและมีหลายมิติ หลายความลึก ดังนั้นเราจึงไม่ควรยืดมั่นถือมั่นกับความรู้เดิม และควรฝึกตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เรื่องที่เป็นทฤษฎีล้วนๆ ไม่สามารถนำมาอธิบายชีวิตจริงได้ทั้งหมด ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมหรือบริบทของสิ่งต่างๆ ด้วย ปัญหาของการเรียนรู้คือเด็กไม่กล้าคิดและลองแย้ง ครูหลายคนก็ไม่ค่อยยอมให้เด็กแย้งและมองว่าเด็กมีศักยภาพ/ความรู้ต่ำกว่าตน อาจารย์บอกว่าสิ่งที่อันตรายที่สุดคือ ครูมองว่าลูกศิษย์โง่ และที่อันตรายกว่านั้นก็คือ ศิษย์ดันเชื่อว่าตนเองโง่ตามที่ครูว่าด้วย (เรื่องแบบนี้ต้องปรับทัศนคติทั้งครูและศิษย์)

การมีความรู้เยอะๆ เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังดีไม่พอ ต้องมีการ organize ความรู้ที่มีอยู่ด้วย เพื่อจะได้ใช้ได้ทันกาลและทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้อาจารย์ยังเน้นเรื่องการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้างใน (transformative learning) ให้เด็กมี leadership skill หมายถึงเมื่อจบไปแล้วสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้า แต่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ดี คือเป็น change agent ซึ่งการเรียนการสอนจะต้องให้เกิดสิ่งนี้

โดยสรุป การสอนแบบไม่บรรยายจะเน้นที่ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติโดยใช้ PBL (Project/Problem-Based Learning) เป็นเครื่องมือและต้องมีกระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การให้เด็กทำ Self reflection ผ่านการทำรายงาน ต้องมี presentation และ group reflection เพื่อที่จะสามารถสะท้อนกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด (ไม่ใช่ดูจากผลลัพธ์หรือ product ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ PBL เพียงอย่างเดียว) เน้นทักษะ การฝึกฝน (มากกว่าท่องบ่น) เน้นการทำงานเป็นทีม และครูต้องเป็น learning facilitator/coach มากกว่า teacher

ชอบคำพูดที่อาจารย์ฝากไว้ในเรื่องของการทำงานและการสอนว่า “ทุกคนมีสิทธิ์สร้างความทรงจำดีๆ ให้กับทุกคน/ทุกแห่งที่เราปรากฎเงา”  ทำให้นึกถึงคำพูดที่ว่า “Teaching and learning should bring joy.” อืมห์..นะ มาเป็นครูที่มีทัศนคติที่่ดีในการทำงานกันดีกว่าค่ะ เริ่มต้นที่ใครไม่ได้ ก็เริ่มต้นที่ตัวเองนี่ล่ะ ^^

ขอบคุณฝ่ายส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน สำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีการจัดการสัมมนาดีๆ แบบนี้ให้กับคุณครูทั้งหลายนะคะ ได้ประโยชน์มากมายจริงๆ ค่ะ

ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือชีวิต..เราต่างเติบโตจากการโอบอุ้มของใครบางคนเสมอ

20120918_171203

ได้มีโอกาสอ่าน story of appreciation ในภาษาอังกฤษแล้วชอบใจค่ะ เลยตามหา version ภาษาไทยใน web แล้วก็เจอคนใจดีแปลไว้จริงๆ..เรื่องมีอยู่ว่า
————————————————————

หนุ่มน้อยเพิ่งจบการศึกษาด้วยผลการเรียนดีเยี่ยมไปสมัครงานในตำแหน่งผู้จัดการในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง หลังจากผ่านการสอบสัมภาษณ์ครั้งแรกไปแล้วผู้อำนวยการได้เรียกเขาไปสัมภาษณ์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนตัดสินใจ ผู้อำนวยการเห็นข้อมูลในประวัติของเด็กหนุ่มคนนี้ว่ามีผลการเรียนเป็นเลิศในทุกวิชาตลอดมานับตั้งแต่อุดมศึกษาจนจบมหาวิทยาลัย

ผู้อำนวยการเริ่มคำถามว่า “เธอเคยได้รับทุนการศึกษาอะไรหรือเปล่า?” เด็กหนุ่มตอบว่า “ไม่เคยครับ” ผู้อำนวยการถามต่อว่า “คุณพ่อของเธอเป็นคนจ่ายค่าเล่าเรียนให้ใช่ไหม?” เด็กหนุ่มตอบว่า “คุณพ่อของผมเสียไปตั้งแต่ผมอายุได้ขวบเดียวครับ เป็นคุณแม่ที่จ่ายค่าเล่าเรียนให้ผม” ผู้อำนวยการถามต่อว่า ” คุณแม่ของเธอทำงานอะไร?” เด็กหนุ่มตอบว่า “คุณแม่ทำงานซักรีดครับ”

ผู้อำนวยการขอดูมือของเขา เด็กหนุ่มยื่นมือที่เรียบลื่นไม่มีที่ติให้ผู้อำนวยการดู ผู้อำนวยการถามต่อว่า “เธอเคยช่วยคุณแม่ของเธอทำงานบ้างหรือเปล่า?” เขาตอบว่า “ไม่เคยครับ คุณแม่ต้องการให้ผมเรียนแล้วก็อ่านหนังสือเยอะๆ คุณแม่ซักผ้าได้เร็วกว่าผมด้วยครับ” ผู้อำนวยการบอกว่า “ฉันมีเรื่องให้เธอช่วยทำอย่างหนึ่งนะ วันนี้เมื่อกลับถึงบ้าน ช่วยล้างมือคุณแม่ของเธอแล้วกลับมาพบฉันอีกทีพรุ่งนี้เช้า”

ด้วยความมั่นใจว่าโอกาสที่จะได้งานทำมีอยู่สูงมาก เมื่อเด็กหนุ่มกลับไปถึงบ้านเขาจึงรู้สึกเต็มใจที่จะล้างมือให้แม่ของเขา ฝ่ายแม่รู้สึกประหลาดใจระคนหวั่นใจ เธอส่งมือให้ลูก หนุ่มน้อยค่อยๆ ล้างมือให้แม่ แล้วน้ำตาไหลก็ออกมา เขาเพิ่งรู้สึกว่ามือของแม่นั้นช่างเหี่ยวย่นและเต็มไปด้วยริ้วรอยขูดข่วน ซึ่งบางแผลพอโดนล้างน้ำก็ทำให้แม่เจ็บจนมือสั่นระริก

นี่เป็นครั้งแรกที่เด็กหนุ่มตระหนักรู้ว่า มือคู่นี้เองที่ซักผ้าทุกวันเพื่อหารายได้มาส่งเสียให้เขาได้เล่าเรียน รอยแผลเหล่านี้คือราคาที่แม่ต้องจ่ายไปเพื่อความสำเร็จในการศึกษาของเขา เพื่อผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมของเขาและอาจจะเพื่ออนาคตของเขาด้วย คืนนั้นสองแม่ลูกได้คุยกันอยู่นาน

เช้าวันต่อมา เด็กหนุ่มเดินทางไปที่ออฟฟิศของผู้อำนวยการด้วยรอยรื้นในดวงตา สังเกตเห็นดังนั้ผู้อำนวยการจึงเอ่ยขึ้นว่า “ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าเมื่อคืนที่บ้านเธอทำอะไรบ้าง แล้วได้บทเรียนอะไร” เด็กหนุ่มตอบว่า “ผมล้างมือให้แม่ครับ แล้วก็เลยช่วยแม่ซักผ้าที่เหลือจนเสร็จ” ผู้อำนวยการบอกว่า “ช่วยเล่าให้ฉันฟังหน่อยว่า เธอรู้สึกยังไง”

เด็กหนุ่มตอบ “ข้อที่หนึ่ง ผมได้รู้ซึ้งถึงคำว่า สำนึกในบุญคุณ ถ้าไม่มีแม่ก็คงไม่มีความสำเร็จของผมด้วย ข้อที่สอง จากการช่วยแม่ทำงาน ผมได้เรียนรู้ว่ามันยากลำบากแค่ไหนกว่าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้สำเร็จ ข้อที่สาม ผมได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของความรักความผูกพันในครอบครัว”

ผู้อำนวยการจึงบอกว่า “นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการ ฉันอยากได้คนที่รู้ค่าของการได้รับความช่วยเหลือ อยากได้คนที่เข้าใจถึงความลำบากของใครสักคนในการจะทำอะไรได้มาสักอย่าง และอยากได้คนที่ไม่ได้คิดถึงเงินเป็นเป้าหมายในชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว เป็นอันตกลงว่าฉันรับเธอไว้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ”

ในเวลาต่อมา เด็กหนุ่มคนนี้ก็ได้ทำงานอย่างหนักและได้รับความนับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกจ้างทุกคนทำงานเป็นทีมอย่างขยันขันแข็ง กิจการของบริษัทก็เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี

ว่ากันว่า เด็กที่ถูกตามใจจนเป็นนิสัย ได้รับทุกอย่างที่ต้องการ จะสร้างนิสัยเอาแต่ใจตัวเองและเห็นแก่ตัวเองเป็นอันดับแรก เขาจะไม่สนใจความเหนื่อยยากของพ่อแม่ เมื่อถึงวัยทำงานเขาก็จะคาดหวังว่าใครๆจะต้องเชื่อฟังเขา เมื่อเขาเป็นผู้จัดการ เขาจึงไม่มีวันรู้ว่าบรรดาลูกจ้างนั้นลำบากอย่างไรและมักจะโทษคนอื่น คนลักษณะนี้เขาอาจจะทำงานได้ อาจจะประสบความสำเร็จช่วงหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้ว เขาจะไม่สำเหนียกคุณค่าของความสำเร็จ หากยังคงคร่ำครวญ เคียดขึ้ง และไม่มีวันรู้สึกพอ

ถ้าเราเป็นพ่อแม่ประเภทที่ปกป้องลูกแบบนี้ จงถามตัวเราว่า เรากำลังให้ความรักกับลูกหรือ กำลังทำลายเขากันแน่? เราให้ลูกๆ มีบ้านใหญ่ๆ อยู่และกินอาหารดีๆ เรียนเปียโน ดูทีวีจอยักษ์ แต่เวลาที่เราตัดหญ้า ลองให้ลูกได้ทำด้วย หลังอาหาร ให้เขาล้างถ้วยชามของตัวเองพร้อมๆกับพี่ๆน้องๆ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีปัญญาจ้างคนรับใช้ แต่เพราะเราอยากจะให้ความรักกับพวกเขาอย่างถูกวิธี

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ลูกของเราจะได้เรียนรู้ คือ รู้คุณค่าของความพยายาม ได้รู้จักว่าความยากลำบากเป็นยังไงและได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นให้เป็น

————————————–

ขอบคุณข้อความดีดีจาก
http://www.liferevo.org/index.php?option=com_content&task=view&id=472&Itemid=64

ค่ำคืนที่ไม่อยากนอน..ไม่ใช่นอนไม่หลับ

23
นั่งค้นข้อมูลเรื่องโน่น นี่ นั่น แป๊บเดียว (ในความรู้สึก) เหลือบดูนาฬิกาแล้วตกใจ ล่วงเข้าวันใหม่มาชั่วโมงกว่าแล้ว ยังไม่ง่วง ยังไม่อยากนอนเลย แต่ก็ต้องตามใจเจ้านาฬิกาชีวิต (Circadian rhythm) ของร่างกาย เพราะหากฝึนใจมันบ่อยๆ คงได้เจ็บป่วยด้วยอาการของ SWSD (Shift Work Sleep Disorders) เป็นแน่

เอาเป็นว่าคืนนี้แค่ประกาศความตั้งใจก่อนก็แล้วกัน ว่าจะตั้งใจเขียน blog อย่างต่อเนื่อง ว่าด้วยเรื่องสัพเพเหระที่สุดแสนจะธรรมดาในชีวิตที่มีโอกาสได้สัมผัสหรือพบเห็น

ว่ากันว่า คนเราเรียนรู้ได้กับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือร้าย แต่การเรียนรู้อาจมีข้อจำกัดจากสมองของเราเอง ที่ไม่อาจจารจำทุกสิ่งอย่างตามที่เราปรารถนา การจดบันทึกอาจเป็นกลวิธีหนึ่งที่ทำให้เราจดจำเรื่องราวต่างๆ และเรียนรู้จากมันได้มากขึ้น

มีข้อเขียนหนึ่งที่น่าสนใจ ว่าด้วยเรื่อง “ประโยชน์ 8 ประการของการเขียนบันทึก” ได้แก่ 1) การเขียนบันทึกทำให้ความสามารถในการเขียนพัฒนาขึ้น 2) เราสามารถสนุกกับการอ่านเรื่องราวที่เราเขียน หลังจากเวลาผ่านไปแล้ว 3) บันทึกช่วยให้เราสามารถเรียบเรียงความคิดแย่ๆ ให้เข้าที่เข้าทาง ทำให้จิตใจสงบ และทำให้เข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น 4) บันทึกเป็นการสร้างสรรงานที่อาจก่อให้เกิดคุณค่ากับคนรุ่นหลัง 5) การเขียนบันทึกคือการเขียนประวัติศาสตร์ในมุมมองของเราเอง = เราคือนักบันทึกประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม 6) บันทึกอาจทำให้เราเข้าใกล้ความเป็นนักเขียนขึ้นเรื่อยๆ 7) การเขียนบันทึกจะช่วยกระตุ้นให้เราบรรลุเป้าหมายในเรื่องชีวิตและการทำงานได้เร็วขึ้น เพราะมันคือความตั้งใจที่เป็นลายลักษณ์อักษร และสุดท้าย 8) บันทึกก็คือบันทึก มันจะช่วยบอกรายละเอียดที่เราลืมในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี

ประโยชน์มากมายที่ว่ามาทั้งหมดจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าสักแต่ว่าอ่านแต่ไม่ลงมือทำ เพราะฉะนั้น จึงบอกตัวเองว่า…จงลงมือเขียนซะ บัดเดี๋ยวนี้!! อั๊ยย่ะ…