หายใจทิ้งในบางวัน..

12017470_10153597761029268_5687055186949498674_o 10984203_10153597760964268_4617542010955289601_o

ถึงชีวิตจะยุ่งแค่ไหนก็ไม่เคยหยุดให้ความบันเทิงกับตัวเอง โดยเฉพาะกับกิจกรรมที่ชอบอย่างดูหนัง

สองวันมานี้ได้ดูหนังสองเรื่อง หนึ่งคือหนังทำเงินของฝรั่ง “Maze Runner2” อีกหนึ่งคือหนังทำเงินของไทย “ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” โรงฉายต่างกัน ราคาต่างกัน และเนื้อหาสาระของหนังก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ใน Maze2 โทมัส พระเอกของเรื่องถูกไล่ล่าจากองค์กรที่ต้องการผลประโยชน์บางอย่างจากเขา ต้องหนี ต้องซ่อน ต้องเผชิญกับความเครียดตลอดเวลา แม้แต่ตอนนอนยังฝันร้าย เป็นชีวิตที่มีทางเลือกน้อย อีกทั้งยัง ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายชีวิตตัวเองได้อย่างชัดเจน

ในขณะที่ยุ่น พระเอกของฟรีแลนซ์ฯ ดูเหมือนจะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากกว่า แต่ชีวิตที่เขาเลือกกลับดูไร้เป้าหมายยิ่งกว่าโทมัส ยุ่นดูเหมือนจะเข้าใจผิดว่า การมีชีวิตคือการที่เราควรจะต้องยุ่งอยู่กับสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา และสิ่งต่างๆ ในชีวิตของเขาเน้นไปที่เรื่องเดียว คือ “งาน” นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่เข้าใจคำถามของหมออิม ที่ถามว่า “เคยเดินสยามเพื่อเดินสยามไหม?” ความหมายของคำถามนี้คงคล้ายกับถามเขาว่า “เคยหายใจทิ้งไปวันๆ บ้างไหม?” ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา

ในชีวิตคนเรามีกิจกรรมมากมายที่ทำแล้วดูเหมือนเสียเวลาและไม่ก่อให้เกิดมรรคผล การ “หายใจทิ้งในบางวัน” ก็ดูจะเข้าข่ายนั้น แต่จริงๆ แล้วกิจกรรมแบบนี้จำเป็นต่อการใช้ชีวิตมาก เราเรียกมันว่า “เวลาพัก” คุณค่าของเวลาพักมีมากมาย หลายคนต่างรู้ดี แต่ก็มีอีกหลายคนที่หลงลืมมันไป

ว่ากันว่า เราต่างมีเหตุผลสนับสนุนในทุกการกระทำของตนเอง..การไม่พัก ก็เช่นกัน “ไม่หยุดพักเพราะ..” “ที่ต้องทำแบบนี้เพื่อ..” ถ้าสถานการณ์ของเราเป็นเหมือนโทมัส..ก็คงต้องกัดฟันสู้ต่อ แต่ถ้าเป็นเหมือนของยุ่น..อาจต้องพิจารณาใหม่ ว่าทุกวันนี้เราไล่ล่าบางสิ่ง เพื่อบางสิ่งที่อาจทำลายอนาคตของเราบ้างหรือเปล่า?

ความตายนั้นดีงาม…

images

แว๊บเข้าโรงหนังและเลือกเรื่องนี้ เพราะประโยคเดียวจากหนังตัวอย่าง “…อดาไลน์ โบว์แมน เธอจะไม่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา อายุของเธอจะคงเดิม..ตลอดไป…” อ่ะ หนังแนวโปรด อะไรที่ดูเหลือเชื่อแฟนตาซีแบบนี้ ชอบนัก จะไม่ดูก็เกรงจะไม่ใช่ตัวเอง 555

The Age of Adaline เป็นหนังรัก ว่าด้วย “อดาไลน์” นางเอกของเรื่อง ที่จู่ๆ ตายไปและกลายเป็นอมตะอย่างเหลือเชื่อเพราะอุบัติเหตุ (ดูเหมือนหนังพยายามจะใช้ทฤษฎีทางฟิสิกส์มาอธิบาย…แต่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความรู้เรื่องนี้ ขอข้ามนะคะ) ร่างกายเธอถูกสต๊าฟไว้ที่อายุ 26 โดยไม่รู้ตัว มารู้อีกทีเมื่อเห็นเพื่อนรุ่นเดียวกันสังขารร่วงโรยตามกาลเวลา และลูกสาวที่เลี้ยงดูมาก็เริ่มชราล้ำหน้าเธอเข้าไปทุกที

ความเป็น “อมตะ” ดูเหมือนจะเป็นความต้องการของผู้มีอำนาจหรือร่ำรวยบางคน (ยังไม่เคยเห็นคนจนฝันถึงชีวิตอมตะ อาจเพราะการมีชีวิตที่ยาวนานมากขึ้นเท่าไร ก็เปรียบเสมือนกับการได้รับความยากลำบากที่ยาวนานมากขึ้นเท่านั้น ใครเล่าจะอยากได้ชีวิตแบบนั้น…) ในขณะที่ผู้ยิ่งใหญ่หลายคนแสวงหายาอายุวัฒนะ เพื่อคงความมีชีวิตและอำนาจไว้ให้ยืนยาวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่หนังเรื่องนี้กลับสะท้อนว่า…ความเป็นอมตะอาจไม่ใช่เรื่องดีงามแบบที่เราคิด

การมีรูปกายที่สาวสะพรั่งตลอดเวลา ทำให้เธอไม่สามารถอยู่กับลูกได้ ไม่สามารถลงหลักปักฐานในเมืองไหนได้เกิน 10 ปี ต้องถูกตามล่าจาก FBI เพราะไม่สามารถใช้ ID card แสดงตัวตนที่แท้ได้ (ต้องปลอมบัตรและเปลี่ยนตัวตนทุก 10 ปี) ต้องคบแต่เพื่อนตาบอด (คบได้นาน เพราะเพื่อนไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง) และทำให้ไม่กล้าที่จะรักและผูกพันกับใคร เพราะคบไป ก็ไปไม่ค่อยจะสุดทาง สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอเหนื่อยล้า เศร้า และเฉยชา ชีวิตอมตะที่ได้รับมา ดูเหมือนจะทำให้เธอ “มีชีวิต…แต่ไม่เคยได้ใช้ชีวิต” ตัวละครในหนังคนหนึ่งบอกกับเธอไว้แบบนั้น

หนังสะท้อนว่า การมีชีวิตยืนยาว อาจไม่ใช่ความสุขที่แท้..ได้รู้ว่าวันหนึ่งต้องตาย อาจทำให้ใครบางคนใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีค่ามีความหมายมากขึ้น และเมื่อถึงวันที่หมดอายุขัย อิ่มพอกับการมีชีวิต ความตาย…ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอย่างที่เราคิด

เราสามารถทำเรื่องบางเรื่องให้สำเร็จได้เสมอ

img1423667631530

ว่ากันว่า แม้แต่เพื่อนสนิทที่มีรสนิยมการดูหนังคล้ายกับเรามากที่สุด…ก็ไม่อาจการันตีได้ว่า เขาจะชอบ…อย่างที่เราชอบ การดูหนังจึงเป็นกิจกรรมที่มักทำคนเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกกังวลต่อความชอบของคนที่เราชวน (หลังดูหนังจบ)

โดยส่วนตัวเชื่อว่า ประสบการณ์จากการอ่าน ทำให้คนเรามีความสนใจและรู้สึกต่อหนังแตกต่างกัน เหมือนกับตอนที่ชวนเพื่อนไปดู the theory of everything เพื่อนถาม “มันเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร?” คำตอบก็คือ “เป็นหนังเกี่ยวกับสตีเฟ่น ฮอว์กิ้งไง” เพื่อนทำหน้างง ถามย้อนกลับมาว่า “แล้วสตีเฟ่น ที่ว่าคือใคร?” เอ่อ…ดูท่าจะต้องตอบยาวแล้วล่ะ (ฮา)

อาจเพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือหลายแนว หนังสือเกี่ยวกับฟิสิกส์และจักรวาลวิทยาก็อยู่ใน list ที่ชอบด้วยเช่นกัน สิบกว่าปีที่แล้วจึงได้รู้จักกับสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง นักวิทยาศาสตร์ที่ถูกระบุว่าปราดเปรื่องที่สุดนับตั้งแต่ยุคของไอน์สไตน์ ได้อ่านหนังสือของเขา ได้แก่ “ประวัติย่อของกาลเวลา” (A Brief History of Time) และ “จักรวาลในเปลือกนัท” (The Universe in a Nutshell) รวมทั้งได้อ่าน “สู่อนันตกาล: ชีวิตฉันและสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง” (Travelling to Infinity: My Life with Stephen) ของเจน ฮอว์กิ้ง ผู้เป็นภรรยา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ถูกนำไปสร้างเป็นหนังเรื่อง the theory of everything ด้วยพื้นฐานการอ่านดังที่ว่า ทำให้เข้าใจเนื้อหา/อารมณ์ของหนังลึกซึ้งกว่าภาพที่เห็น

ด้วยข้อจำกัดของเวลา (และอาจเพราะตัวเอกของเรื่องยังมีชีวิตอยู่) หนังจึงสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ได้ค่อนข้างแผ่วเบา โดยเฉพาะการเกิดภาวะ caregiver burden ของเจนที่ต้องรับภาระดูแลบุคคลสำคัญของโลกที่ป่วยเป็น ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ประสาทซึ่งอยู่ในสมองและไขสันหลัง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อต่างๆตายหรือเสื่อมสภาพ โดยการเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทเหล่านี้มักจะค่อยๆเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว ซึ่งผู้ป่วยมักรู้ตัวเมื่อเกิดผลกระทบที่ชัดเจนแล้ว เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ขยับแขนขาไม่ได้ ขาแขนลีบ พูดไม่ได้ เป็นต้น (หากใครยังจำกระแส Ice Bucket Challenge ในช่วงที่ผ่านมาได้ ก็จะทราบว่าเป็นวิธีหนึ่งในการรณรงค์บริจาคเงินสำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคนี้)

หนังดูเพลิน พระเอกแสดงเก่งมาก (ได้ข่าวว่าได้รางวัล best actor จากเวที golden globe award 2015 ด้วย ^^) ชอบคำพูดของสตีเฟ่นในตอนท้ายเรื่องที่บอกว่า “ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เราสามารถทำเรื่องบางเรื่องให้สำเร็จได้เสมอ” (หากยังมีความหวังและเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ)

สีดาร้องเพลงบลูส์ (Sita sings the blues) กับเรื่องบลูๆ ของครอบครัว

sita

สีดาร้องเพลงบลูส์ (Sita sings the blues) เป็นหนังการ์ตูนที่พูดถึงเรื่องราวของรามเกียรติ์ที่เราคุ้นเคยกันดี จับตอนที่นางไกยเกษีขอให้ท้าวทศรถมอบบัลลังก์ให้แก่พระพรตและขับพระรามออกจากวัง นางสีดาและพระลักษณ์ขอติดตามไปด้วย ในป่า นางสำมนักขายุยงทศกัณฐ์ให้ลักพานางสีดา โดยส่งกวางทองไปล่อพระรามออกจากอาศรมแล้วลักนางสีดาไป พระรามมีบัญชาให้หนุมานตามหานางสีดา หนุมานติดตามไปถึงกรุงลงกาแต่นางสีดาไม่ยอมกลับด้วยโดยง่าย ด้วยเกรงจะได้ชื่อว่าเป็นหญิงไม่รักนวลสงวนตัว (ดังที่เราเคยได้ยินสำนวน “ยักษ์ลักมาลิงพาไป”) หนุมานจึงเผากรุงลงกาแล้วเหาะกลับมาทูลให้พระรามทรงทราบ หลังจากนั้นพระรามก็กรีธาทัพวานรรบยักษ์นาน 14 ปี หลังรบชนะได้นางสีดาคืนมา พระรามกลับมีข้อกังขาเรื่องความบริสุทธิ์ของนาง นางสีดาจึงพิสูจน์ตัวด้วยการลุยไฟ ถ้าใครเคยอ่านหนังสือคงทราบว่าเรื่องจบลงอย่างไร แต่การ์ตูนเรื่องนี้มีตอนจบที่ต่างออกไป…

หนังไม่ได้เล่าเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์อย่างเดียว แต่เป็นการเล่าถึงชีวิตของนีนาและแซมคู่สามีภรรยาในยุคปัจจุบันควบคู่ไปด้วย เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพระรามว่าย่ำยีนางสีดาอย่างไร สลับกับการมีนางสีดามาร้องเพลงบลูส์เพราะๆ บรรยายความในใจ แถมมีตัวละครหน้าม่านแบบหนังตะลุงสามตัวออกมาสนทนาเชิงวิพากษ์การกระทำของพระรามด้วย ทำให้เรื่องราวสนุกยิ่งขึ้น

โดยส่วนตัว ชอบตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง ที่มีเทพีออกมาเปิดแผ่นเสียงที่มีเนื้อหาพูดถึงความรักของตนเองที่มีต่อบุรุษที่ไม่ดี แต่บุรุษนั้นก็คู่ควรกับ “สตรีเช่นเรา” แล้วแผ่นเสียงก็ตกร่องตรงนี้ซ้ำๆ หลายครั้ง คือ คู่ควรกับสตรีเช่นเราๆๆๆๆๆ และเมื่อเรื่องดำเนินไปถึงตอนที่พระรามต้องถูกขับออกจากวัง นางสีดาขอตามไปด้วยแต่ถูกปฏิเสธในตอนแรก แต่นางก็ยืนยันว่า “หม่อมฉันอยู่ไม่ได้หากไม่มีพระองค์” แล้วแผ่นเสียงก็ตกร่องอีกครั้ง หม่อมฉันอยู่ไม่ได้หากไม่มีพระองค์ๆๆๆๆๆ

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เจ้าของคอลัมน์ การ์ตูนที่รัก ให้ความเห็นว่า หนังเริ่มไปได้เพียงสิบห้านาทีแรกก็ได้พาดพิงวาทกรรมสำคัญที่สร้างความทุกข์แสนสาหัสให้ผู้หญิงสองประโยค “เราสองเป็นคู่กัน (คนที่คู่ควรกับสตรีเช่นเรา)” และ “ชั้นอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเขา (หม่อมฉันอยู่ไม่ได้หากไม่มีพระองค์)” ซึ่งนำไปสู่ความพยายามทนอยู่ของภรรยาบางคนแม้จะถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากสามี

นอกจากนี้ เมื่อถึงตอนที่นางสีดาเว้าวอนพระรามให้ออกไปตามจับกวางทอง พระรามสั่งให้นางสีดาระวังตัวและกล่าวทิ้งท้ายว่า “ฉันรักเธอ” ก่อนจากไป เสียงเพลงบรรยายความในใจของสตรีที่เห็นความดีเลิศของบุรุษ ลงท้ายด้วยท่อนฮุกว่า “มีอะไรที่ฉันจะทำเพื่อเขาไม่ได้บ้าง” ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งวาทกรรมที่เหนี่ยวรั้งให้ผู้หญิงไม่ยอมทิ้งสามีไม่เอาไหน เพราะคิดถึงแต่คำหวานเมื่อวันวาน หลังจากนั้น ก็มีฉากที่หน้าม่านทั้งสามตัวถกเถียงกันว่า เมื่อหนุมานมาพบนางสีดาแล้ว ทำไม่นางไม่ยอมกลับไปกับหนุมาน คนหนึ่งว่าเพราะเธอไม่ไว้ใจลิง อีกคนว่าไม่ใช่ เธอไว้ใจลิงแต่เธอต้องการให้ผู้ชายของเธอมาชิงเธอไป ส่วนหน้าม่านที่เป็นผู้หญิงบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อสรรเสริญพระราม (เพศชาย) และในขณะที่นางสีดาต้องขอลุยไฟพิสูจน์ตัว หน้าม่านทั้งสามก็วิวาทะกันอีกว่าทำไมผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายเดียวที่ต้องลุยไฟ แล้วก็มีเสียงเพลงขับร้อง เนื้อหาว่ารักแท้ย่อมผ่านความเจ็บปวด โดยมีท่อนฮุกความว่า “หากต้องการเห็นสายรุ้ง ก็ต้องมีฝนมาก่อน” ซึ่งว่ากันว่า เป็นวาทกรรมที่จองจำให้ผู้หญิงอยู่กับที่ อดทนอดกลั้นต่อความเจ็บปวดรวดร้าวนานาประการที่ผู้ชายกระทำ ด้วยหลงผิดคิดว่าอะไรจะดีขึ้น โดยหารู้ไม่ว่า เรื่องแบบนี้ไม่มีทางจะดีได้ง่ายๆ

สุดท้ายนางสีดา จะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน ให้ลองไปหาหนังดูกันเองนะคะ ส่วนตัวเอง ชอบทั้งตัวหนังและชอบทั้งคำวิจารณ์ของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลยเอามาแบ่งปันค่ะ ^^

อ้างอิง
เนื้อหาทั้งหมดที่เขียนส่วนใหญ่คัดลอกมาจากคอลัมน์การ์ตูนที่รัก ของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จาก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 1758 [28 เม.ย.-1 พ.ค. 2557]

แล้วเราจะดีใจ ที่ไม่ยอมแพ้…

Saikou no Jinsei no Owarikata (Ending Planner) หรือ “จุดจบที่ดีที่สุดของชีวิต” เป็นซีรี่ย์ที่กำลัง on air ในญี่ปุ่น แต่ series8-FC (web สำหรับดูซีรี่ย์เกาหลีและญี่ปุ่น) ได้นำมาทำ subtitle ภาษาไทย เพื่อให้แฟนๆ ชาวไทยได้มีโอกาสดูกันแบบอาทิตย์ต่ออาทิตย์ จนแทบจะเรียกได้ว่า ดูไปพร้อมๆ กับเจ้าของประเทศเลยทีเดียว

เรื่องนี้มีเค้าโครงเรื่องที่น่าสนใจมาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าของธุรกิจการจัดงานศพที่มาด่วนตายจากไป ทิ้งมรดกนี้ไว้ให้กับลูกๆ (ซึ่งไม่มีใครอยากได้) โดยเฉพาะพระเอกของเรื่อง ที่ถึงแม้จะเป็นลูกชายคนรอง แต่ก็ต้องมารับภาระเพราะพี่ชายคนโตหนีออกจากบ้านไป

เริ่มเรื่องด้วยคำรำพึงของพระเอก ที่บอกว่า..

“ความตายเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวผมตลอด เหตุผลก็เพราะครอบครัวของผมเป็นเจ้าของร้านทำศพ  ตลอด 365 วันต่อปี, 24 ชั่วโมงต่อวัน โทรศัพท์ที่ดังขึ้นบอกพวกเราว่า มีคนตาย ใช่…พวกเรามักรอความตายของคนอื่น เมื่อมีคนตาย ก็จะมีคนร้องไห้ เช่นเดียวกับการร้องไห้ที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด แล้วเราก็เติบโต เพียงเพื่อที่จะเผชิญว่า วันหนึ่งเราจะต้องตาย…”

ด้วยความคิดแบบนี้ ทำให้พระเอกสงสัยอยู่เสมอว่า คนเราเกิดมาเพื่ออะไร…ถ้าเกิดมาแล้วต้องตาย

เรามีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งใดกัน?

และแม้ว่าจะยังไม่ได้คำตอบ แต่เมื่อพบคนที่พยายามฆ่าตัวตาย เขาก็ช่วยไว้ แล้วบอกว่า “ถ้าคุณยอมแพ้ มันจะจบ แต่ถ้าคุณไม่ยอมแพ้ วันนั้นจะมาถึง แล้วคุณจะดีใจ ที่คุณไม่ยอมแพ้”

ช่างเป็นถ้อยคำที่โดนใจสุดๆ  ทำให้ตั้งหน้าตั้งตาคอยชมตอนต่อๆ ไปแบบไม่มีเบื่อ ^^

สิ่งที่ชอบอีกอย่างหนึ่งในเรื่องก็คือ พินัยกรรมที่พ่อเขียนไว้ในลูกๆ ทั้ง 5 คน เป็นพินัยกรรมที่คนเป็นพ่อเขียนแบบเข้าใจลูกทุกคนอย่างสุดซึ้ง ทั้งยังอธิบายตัวตนของทั้ง 5 ได้อย่างถึงแก่น เนื้อความบอกว่า “เคนโตะ แกพยายามอย่างมากเพื่อช่วยธุรกิจทำศพ นี่เป็นบ้านของแก อย่าลืมซะล่ะ/ มาซาโตะ แกทำอะไรก็ได้ที่อยากทำในชีวิตของแก มีชีวิตอย่างอิสระ แต่ขอให้แกเลือกเส้นทางชีวิตที่แกพูดได้ว่า “ชอบ”/ ฮารุกะ ตอนแกเด็กๆ เพราะพ่อแม่ไม่ระวังแกถึงเจออุบัติเหตุ แกถึงต้องพิการ ฉันเสียใจจริงๆ จากส่วนลึกของหัวใจฉัน/ ฮายาโตะ แค่คิดถึงคนอื่นแบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่พรสวรรค์/ โมโมโกะ ถ้าแกคิดว่าฉันจะยกทุกอย่างให้แก แกเข้าใจผิดแล้ว ในโลกนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล”/ ผู้คนต่างกลัวและเกลียดชังความตาย เพราะมันพรากคนที่พวกเขารักไป เพราะอย่างนั้น คนทำพิธีศพจึงถูกเกลียดไปด้วย  ถ้าฉันตายอย่างกระทันหัน และไม่มีใครอยากรับภาระทำร้านจัดศพต่อไป ให้ปิดร้านซะ…”

แค่ตอนแรกก็ลึกซึ้งขนาดนี้ ไม่อยากจะนึกถึงตอนต่อไป รอชมอย่างเดียวเลยค่ะ…

(ขอบคุณ series8-FC ที่มีแต่ซีรี่ย์ดีๆ ให้ได้ชมกันค่ะ)

ปัญญา-เรณู…เพราะโลกนี้มีเด็ก โลกจึงสวยงาม

ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบดูหนังที่มีเด็กๆ แสดงมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังชาติไหน การแสดงของเด็กๆ มักจะสดใส และน่ารักจับใจเสมอ (ไม่นับรวมหนังสยองขวัญหรือหนังชีวิตหนักๆ นะคะ)  หนังเรื่อง “ปัญญา เรณู” ก็เช่นกัน ดูแล้วประทับใจมาก ต้องขอบคุณน้องเล็ก น้องสาวที่น่ารักผู้ชักชวนให้ไปดูด้วยกัน (แม้เธอจะต้องดูเป็นรอบที่สองก็ตาม)

ปัญญา เรณู เป็นหนังที่สะท้อนชีวิตชนบทในภาคอีสานของไทยเราได้งดงาม อาจกล่าวได้ว่าเป็นชนบทในอุดมคติ หรือในอดีต (เพราะปัจจุบันไม่แน่ใจว่าชนบทใสๆ แบบนี้จะมีให้เห็นอีกไหม) ที่เด็กผู้เคยเติบโตมาจากบ้านนอกคิดฮอดถึง (ภาษาเหนือก็คงจะใช้คำว่า กึดเติงหา) ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “บวร” (บ้าน-วัด-โรงเรียน) ที่ยึดโยงกันอย่างเหนียวแน่น…พ่อ-แม่ที่ดี ครูที่น่ารัก พระที่น่าเคารพเลื่อมใส (และมีอารมณ์ขัน แบบพอเหมาะพอดี)

ถ้าไม่นับเรื่องความเป็นอยู่หรือเปรียบเทียบกันเชิงเศรษฐกิจ เด็กบ้านนอกนั้นดูจะโชคดีกว่าเด็กในเมืองเสมอ ตั้งแต่เรื่องการหลับ-การตื่น (ที่ไม่จำเป็นต้องตื่นตีสี่ตีห้าเพื่อให้ไปทันเข้าชั้นเรียนตอนแปดโมงเช้า เย็นๆ ต้องไปกวดวิชา กว่าจะกลับก็ค่ำมืด) การได้รับการเอาใจใส่จากพ่อ-แม่เต็มเวลา มีกลุ่มเพื่อนในหมู่บ้าน มีพื้นที่วิ่งเล่นกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ฯลฯ เช่นเดียวกับหนังเรื่องนี้ที่สื่อออกมาได้ดี จนบางครั้งผู้เขียนก็อดไม่ได้ที่จะนึกโหยหาสังคมชนบทที่น่ารื่นรมย์แบบนั้น

ดูหนังเรื่องนี้แล้วอยากขอชื่นชมคนสร้างคือคุณบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ที่เลือกเรื่องราวแบบนี้มานำเสนอ ให้เครดิตคนเขียนบทที่สามารถผสานเรื่องต่างๆ ได้อย่างลงตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของเด็กๆ ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ และความเชื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในถิ่นอีสาน รวมทั้งนักแสดงทุกคนที่น่ารักน่าชังไปหมด จนไม่รู้จะแบ่งใจชอบใครดี อ้อ…แต่ก็พอมีคนโปรดอยู่เล็กน้อย อย่างน้อง “น้ำขิง” ที่แสดงเป็น “เรณู” นางเอกของเรื่อง เธอแสดงได้น่ารักได้ใจมาก (โดยเฉพาะฉากที่เธอถอดกระโปรงเหลือกางเกงขาสั้นข้างใน เพื่อจะต่อยกับเด็กผู้ชายที่มาท้าดวลด้วย) อีกคนที่ชอบก็คือ “บักจอบ” เด็กชายฟันเหยิน เพื่อนบ่าวของ “ปัญญา” เพราะพอแกเอ่ยปากพูดที่ไร ก็ชวนฮาทุกทีสิน่า…

นึกถึงตอนท้ายเรื่องแล้วขำ เนื่องจากไปดูกับน้องๆ ที่เป็นพยาบาล ซึ่งก็คุยกันว่าฉากในโรงพยาบาลไม่ค่อยสมจริงเท่าไร น้องบอกว่า น่าจะมีที่ปรึกษาด้านนี้บ้าง เรื่องจะได้ดู “จริง” ขึ้นมาีอีกหน่อย…ผู้เขียนเองก็เห็นด้วย แต่ที่ขำเพราะนึกถึงว่าตัวเองก็เคยได้รับการปรึกษาเรื่องฉากแบบนี้จากน้องนักเขียนคนหนึ่งเหมือนกัน เธอบอกว่า เธอแต่งนิยายแล้วมีอยู่ฉากหนึ่งที่ไม่รู้จะเขียนยังไง เป็นฉากตอนที่พระเอกต้องขโมยตัวนางเอกซึ่งอาการโคม่าอยู่ในห้อง ICU ของโรงพยาบาล เธอถามว่า จะทำได้ยังไง…

โอ้แม่เจ้า…ขโมยคนไข้ที่โคม่าจาก ICU เนี่ยนะ!!! สำหรับคนที่ทำงานในโรงพยาบาลจะรู้ว่ามัน โค-ตรยากมากมาย หลังจากอธิบายวิธีที่พอจะเป็นไปได้ให้น้องฟัง เธอบอกว่า…ทำไมมันซับซ้อนและยุ่งยากแบบนี้ล่ะพี่ เออ…ก็นั่นแหละ คือถ้าจะให้สมจริง มันก็ยากแบบนี้ล่ะ น้องก็เลยบอกว่า สงสัยหนูจะต้องคิดบทใหม่แล้วล่ะ เลยบอกน้องไปว่า…ถ้าไหนๆ ตอนต้นเรื่องน้องก็โม้มาตลอดแล้ว (คือเรื่องที่เธอแต่งเป็นเรื่องแบบเหนือจริงประมาณ transformer) อย่ากระนั้นเลย น้องก็โม้ไปอีกสักหน่อยจะเป็นไรไป ไม่ต้องให้มันสมจริงแบบที่พี่บอกหรอก (ฮา)

สรุปว่า ปัญญา-เรณู เป็นหนังที่น่ารักถูกใจค่ะ ใครที่ยังไม่มีโอกาสได้ชม…เชิญได้นะคะ (รีบๆ หน่อยก็ดีค่ะ เพราะคิดว่าคงอยู่ในโรงได้อีกไม่นาน)

การแต่งงานก็เหมือนกับการเลือกซื้อรองเท้า…

Hanoi Bride เป็นละครตอนพิเศษ ที่จัดทำขึ้นแค่ 2 ตอนเท่านั้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปี หลังจากที่สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง โดยละครเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของ อึนอู หมอหนุ่มชาวเกาหลี ที่เข้ามาทำงานเป็นแพทย์อยู่ที่ฮานอย และพบรักกับสาวชาวเวียดนามที่ชื่อ ทิฟ ซึ่งทำหน้าที่ล่ามระหว่างคุณหมออึนอูและคนไข้ ด้วยความสนิทสนมทำให้อึนอูตกหลุมรักทิฟมานาน แต่เขาก็ไม่แน่ใจว่าทิฟจะคิดยังไงกับเขา เพราะดูเหมือเธอยังมีอะไรบางอย่างที่ติดค้างอยู่ในใจ และยากที่จะบอกรักกับใครสักคน

วันหนึ่งพ่อของอึนอูเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทำให้เขาต้องรีบกลับเกาหลีอย่างเร่งด่วน โดยอึนอูได้ฝากข้อความถึงทิฟโดยผ่านพี่สาวของเธอว่าให้ไปพบกับเขาที่สนามบิน ด้วยความที่พี่สาวของทิฟเคยแต่งงานกับหนุ่มเกาหลีและมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน แต่หนุ่มเกาหลีคนนั้นก็ทิ้งพี่สาวของทิฟให้อยู่กับลูกตามลำพัง ทำให้พี่สาวทิฟฝังใจเกี่ยวกับเรื่องนี้  จึงไม่ได้บอกกับทิฟถึงข้อความที่อึนอูฝากไว้ ส่งผลให้ทั้งคู่เข้าใจซึ่งกันและกันผิด อึนอูคิดว่าทิฟไม่ได้รักเขาจริงจึงไม่มาที่สนามบิน ส่วนทิฟก็เข้าใจว่าอึนอูจากไปโดยไม่บอกกล่าว

จากวันนั้นความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ก็ดูเหมือนจะสิ้นสุดลง จนกระทั่งพี่ชายของอึนอูได้เดินทางไปที่ฮานอย เพื่อหาคู่แต่งงานตามคำขอร้องของแม่ ในที่สุดพี่ชายของอึนอูก็ได้พบกับทิฟที่เวียดนาม และทิฟเป็นฝ่ายขอตามกลับมาที่โซลเพื่อจะมาเป็นเจ้าสาวของพี่ชายอึนอู ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้อึนอูโกรธ และไม่เข้าใจว่าทิฟจะแต่งงานกับพี่ชายของเขาเพื่ออะไร? มีคำถามที่คาใจอึนอูอีกมากมายเกี่ยวกับตัวทิฟ ซึ่งเขาก็อยากรู้เหตุผลที่แท้จริงจากปากของเธอ เรื่องราวหลังจากนั้นจะเล่าถึงเหตุผลที่ทั้งคู่ต้องผิดใจกัน จนสามารถทำความเข้าใจกันได้ในที่สุด

ละครเรื่องนี้มีหลายตอนที่่ทำให้น้ำตาซึม ซึ่งไม่ได้เกิดจากความรักระหว่างทิฟกับอึนอู แต่เป็นเรื่องของมุมมองของการครองคู่หรือการแต่งงานของคนเกาหลี สำหรับคนเป็นแม่ ส่วนใหญ่จะยินดีรับเขยหรือสะใภ้ที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่าลูกของตน แต่หากลูกของตนต้องไปรักกับคนที่มีสถานะทางสังคมต่ำกว่า ถือเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ โดยลืมนึกไปว่าหากเรานำสถานะทางสังคมของคนมาเปรียบเทียบกัน ต้องมีหนึ่งคนที่อยู่สูงและอีกคนที่อยู่ต่ำเสมอ ดังเช่นบทเรียนที่แม่ของอึนอูได้รับ เมื่อดูถูกว่าทิฟเป็นคนที่ต่ำต้อยกว่าหมอแบบอึนอู ไม่สมควรที่จะเป็นเจ้าสาวของเขา (ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เธอรู้สึกยินดีอย่างมากเมื่อทิฟจะแต่งงานกับพี่ชายอึนอู เพราะมองว่าสถานะทางสังคมของทิฟสูงกว่าพี่ชายอึนอู ซึ่งเป็นแค่ชาวนาจนๆ) จนกระทั่งเธอได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเองที่แสดงต่อทิฟ ยามที่แม่ของเพื่อนสาวของพี่ชายอึนอูแสดงออกมาว่าพี่ชายอืนอูนั้นต่ำต้อยกว่าลูกสาวของตนเอง เธอจึงได้คิด…

ตอนที่ประทับใจที่สุดก็คงเป็นตอนที่พ่อของเพื่อนสาวของพี่ชายอึนอูพูดแบบเข้าใจ และไม่คิดขัดขวางความรักของลูกสาวที่กำลังจะแต่งงานกับคนที่มีสถานะต่ำกว่า เขาบอกว่า “…การแต่งงานก็เหมือนกับการเลือกซื้อรองเท้า ควรเลือกซื้อรองเท้าที่ใส่แล้วสบาย  ถ้าหากมันใส่ไม่พอดี มันก็คงไม่มีประโยชน์ ไม่ว่ามันจะทำมาจากวัสดุราคาแพงแค่ไหน…”

ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง…คาดกันว่า คนที่ยังครองตัวเป็นโสด อาจเป็นเพราะยังหารองเท้าที่ใส่สบายคู่นั้นไม่เจอ ใช่ไหมคะ? ^^

หนึ่งเรื่องราว…ล้านวิธีเล่า

ว่ากันว่าเรื่องราวเพียงหนึ่งเรื่อง สามารถนำเสนอวิธีการเล่าได้เป็นล้านวิธี (There are millions of ways to tell a story) และหนังสั้นของ Ridley Scott Associates ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของคำพูดนี้

หนังสั้นทั้ง 5 เรื่อง (The Hunt, Dark Room, The Gift, El Secreto de Mateo, และ Jun and the hidden skies) ใช้คำพูดที่เป็น dialogue เดียวกันทุกเรื่อง ได้แก่

What is that?
It’s a Unicorn.
Never seen one up close before.
Beautiful.
Get away, Get away
I’m sorry.

แต่ Theme และฉากในหนังทุกเรื่องต่างกันโดยสิ้นเชิง มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพรานล่าสัตว์…สังคมค้าเนื้อมนุษย์ที่เน้นความรุนแรง…หุ่นยนต์และโลกอนาคต…เด็กน้อยในสเปน…และการ์ตูนแอนนิเมชั่นแฟนตาซี หากใครสนใจสามารถรับชมหนังสั้นทั้ง 5 เรื่องทาง website http://www.cinema.philips.com/gb_en/ นะคะ

ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็กลับมาคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวเดียวกัน จะสามารถบอกเล่าด้วยวิธีการที่แตกต่างกันได้ถึงเพียงนี้ คงเช่นเดียวกับการใช้ชีวิตของคนเรา

ว่ากันว่า ทุกคนบนโลกใบนี้ล้วนมีหนึ่งชีวิตเหมือนกัน…ต่างกันตรงที่วิธีการเลือกใช้ชีวิต ตอนนี้เราเลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเราต่อโลก ต่อคนรอบข้างของเราแบบไหน ดีหรือร้าย…เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
…ตัวเราเองนั่นแหละรู้ดีที่สุด

(ขอบคุณเพื่อนหญิง- -เบญจวรรณ เอกะสิงห์- -และเพื่อนของเพื่อนหญิงที่แบ่งปัน link ดีๆ มาทาง facebook ให้ทุกคนได้ชมกัน…ดูแล้วได้ข้อคิด คิดแล้วก็เลยขอแบ่งปันต่อให้กับเพื่อนๆทาง blog นะคะ ขอบคุณจริงๆ ^^)

Shrek สุขสันต์ นิรันดร…ทุกๆ วันคือวันสำคัญของชีวิต

ติดตามหนังเรื่อง Shrek มาตั้งแต่ภาค 1 ถึงภาค 4 ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับเจ้ายักษ์เขียวตัวนี้มาก เหมือนได้เห็นชีวิตของยักษ์ตนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่วัยหนุ่ม จนกระทั่งเข้า “วิกฤตวัยกลางคน” ที่โหยหาพลังความแข็งแกร่งของตนเองและความรู้สึกอิสระก่อนแต่งงาน

ความเบื่อหน่ายในชีวิตพ่อบ้านแบบซ้ำๆ ย้ำๆ กับความสุขปนทุกข์ของชีวิตครอบครัวที่แสนวุ่นวาย ทำให้ Shrek ตัดสินใจแลกข้อตกลงกับพ่อมด เพื่อให้ได้ชีวิตสนุกในวัยหนุ่มกลับคืนมาแค่ชั่วหนึ่งวัน แต่เขาต้องแลกวันเดียวของชีวิต (ที่ตนเองนึกไม่ถึงว่าจะเป็นวันสำคัญ) กับสัญญานี้

ว่ากันว่าการกระทำทุกสิ่งในชีวิตของคนเราล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ดั่งคำเปรียบเปรยที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”การกระทำแม้จะเล็กน้อย แต่ก็อาจส่งผลสะท้านสะเทือนได้มากมาย  เช่นเดียวกับวันทุกวันที่เหตุการณ์ในชีวิตของเราอาจเกิดขึ้นซ้ำๆ ย้ำๆ (เช้ามาตื่นนอน ไปทำงาน กลับจากทำงาน เข้านอน อีกเช้าหนึ่งก็ตื่นขึ้นไปทำงานใหม่) ซึ่งบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่า หากตัดวันธรรมดาๆ แบบนี้ออกไปสักวัน ชีวิตเราก็คงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นแน่ (เหมือนกับการที่เชร็คตัดสินใจลบวันหนึ่งในชีวิตทิ้ง เพราะคิดว่าไม่สำคัญ การณ์กลับเป็นว่าหนึ่งวันที่สูญเสียไปนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบกับชีวิตของเขามหาศาลและแทบจะเอาชีวิตไม่รอด)

เคยมีคนถามว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ จะกลับไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีตหรือไม่…สำหรับผู้เขียนเองตอบได้คำเดียวว่า “ไม่” ค่ะ เพราะ้เชื่อว่า วันทุกวันคือวันสำคัญของชีวิต (แม้จะเป็นวันที่แย่ที่สุดหรือทำสิ่งที่ผิดพลาดที่สุด) เพราะหากไม่มีความผิดพลาดในวันนั้น ก็จะไม่มีตัวตนที่เป็นเราในวันนี้ ตัวตนที่ตระหนักรู้ว่า อะไรคือเรื่องที่ควรทำ และอะไรไม่ควรทำ เพราะอดีตคือบทเรียนที่ดีสำหรับปัจจุบันและอนาคตค่ะ

สำหรับหนัง Shrek ภาค 4 นี้ มีข้อคิดดีๆ แทรกอยู่มากมาย สิ่งหนึ่งที่ชอบก็คือ ตอนที่ เชร็คทะเลาะกับฟิโอน่า และฟิโอน่าพูดว่า “…ท่านมีลูกที่น่ารัก 3 ตน มีภรรยาที่รักท่านสุดหัวใจ มีมิตรสหายที่แสนดี แต่ท่านกลับไม่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นเลย…”

ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเองค่ะ กับคำถามที่ว่า…

ณ ตอนนี้
เราเห็นคุณค่าของตัวเองไหม
เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีหรือไม่
หรือเรากำลังแสวงหาอะไรบางอย่าง ที่เราคิดว่าสำคัญ
แต่อาจไม่มีค่า ไม่มีความหมาย มากไปกว่าสิ่งที่เรามี…

The September Issue…ไม่มีใครในโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบ

The September Issue เป็นหนังสารคดีที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ตอนที่เจ้าแม่แห่งวงการแฟชั่นคือ Anna Wintour บก.บริหารของ Vogue ฉบับอเมริกา (Vogue=สมัยนิยม, แฟชั่น)  และทีมงานกำลังเตรียมทำ Vogue ฉบับเดือน กันยายน ปี ค.ศ. 2007 ซึ่งว่ากันว่าเป็นฉบับที่ทำหน้าที่ในการกำหนดแนวของแฟชั่นในปีนั้นๆ จึงถือว่าเป็นฉบับที่สำคัญที่สุดของแต่ละปี

หนังนำเสนอเรื่องราวของวงการแฟชั่นแบบตรงไปตรงมา ทำให้เข้าใจได้ว่าวงการแฟชั่นเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีเม็ดเงินเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมหาศาล และดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่จริงจังมากกว่าที่เห็น และการนำเสนอเรื่องราวในหนังสือเล่มหนึ่งๆ นั้น ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ ทุกอย่างต้องมี Theme มีเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน

ดูหนังเรื่องนี้แล้วชอบผู้หญิงสองคนคือแอนนา (บก.บริหาร) และเกรซ (บก.แฟชั่น) เอา มากๆ แม้ว่ามุมมองในการทำงานของทั้งคู่จะไม่เหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดต่างก็ยอมรับนับถือในผลงานของกันและกัน

ชอบคำถามที่ผู้กำกับถามแอนนาว่าจุดแข็งของเธอคืออะไร เธอตอบว่า คือการมีความกล้าที่จะชี้ขาด และจุดอ่อนของเธอคือเรื่องลูกๆ ในหนังเราจะได้เห็นลูกสาวของแอนนา ที่ท่าทางจะมีลักษณะคล้ายแม่ สังเกตจากการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกภาพที่จะนำไปลงนิตยสารช่วยแม่ ดูเหมือนว่าแอนนานั้นอยากให้ลูกสาวดำเนินรอยตามอาชีพของตัวเอง แต่ลูกสาวอยากเรียนต่อทางด้านกฎหมายมากกว่า ตอนที่ลูกสาวบอกว่าเรื่องแฟชั่นดูเหมือนจะไม่เข้ากับตัวเอง และคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีสาระเท่าไร (เมื่อเทียบกับเรื่องกฎหมายที่เธออยากเรียน) เลยได้เห็นแอนนายิ้มน้อยๆ อย่างเอ็นดูในความคิดลูกสาว และบอกว่า แล้วจะได้เห็นกัน (ดูท่าว่าเธอจะเห็นว่าลูกสาวมีหัวทางด้านนี้อยู่ไม่มากก็น้อย)

สำหรับเกรซที่เคยผ่านการเป็นนางแบบที่รุ่งเรืองในสมัยสาวๆ แต่ได้รับอุบัติเหตุรถชนจนเสียโฉมและเดินได้ไม่เหมือนปกติ ทำให้เธอเปลี่ยนมายึดอาชีพบรรณาธิการด้านแฟชั่น ซึ่งเธอก็บอกว่ากว่าจะไต่เต้าขึ้นมาจนถึงตำแหน่ง บก.ได้ต้องอาศัยความสามารถและเวลาไม่น้อย เกรซเป็นคนที่มีมุมมองทางด้านแฟชั่นสวยมาก แต่บางครั้งสิ่งที่เกรซชอบก็ไม่เข้าตาแอนนา เช่นมีภาพแฟชั่นชุดหนึ่งที่เกรซไปถ่ายมาแล้วเธอชอบมาก พอเอามานำเสนอ แอนนากลับตัดออกเพราะมันไม่เข้ากันกับ concept ของเล่มเดือนกันยายน และอีกครั้งที่เกรซให้ถ่ายแฟชั่นออกมาเป็นแบบฟิลม์มัวๆ เพื่อความสวยงามของภาพ แต่พอเอาไปเสนอ แิอนนาบอกรูปมันไม่ชัด (ตอนที่แอนนาเลือกรูป เกรซจะไม่มีโอกาสอยู่ด้วย ถือว่าการเลือกรูปเป็นสิทธิขาดของแอนนาเพียงผู้เดียว) ทำให้ผู้ช่วยอีกคนโทษว่า printer ไม่ดีพอ พิมพ์กี่ทีๆ ก็ไม่ชัด  เกรซก็ออกมาบ่นว่า มันจะชัดได้อย่างไร ก็ตอนถ่ายตั้งใจให้มัวนี่นา (ขำฉากนี้มาก)

อีกฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตอนที่เกรซให้ตากล้องที่ืชื่อบ๊อบถือกล้องแล้วกระโดด โดยให้ตากล้องอีกคนถ่ายรูปไว้ และถ่ายภาพตอนที่นางแบบกระโดดเหมือนกัน แล้วนำมาตัดต่อกันเหมือนว่าทั้งตากล้องและนางแบบกำลังกระโดดอยู่ทั้งคู่ ตอนที่เอาไปให้แอนนาเลือก (เกรซไม่ได้อยู่ในห้องตามเคย) แอนนาบอกชอบรูปนี้มาก แต่น่าจะไปทำรีทัชพุงตากล้องหน่อย (ตากล้องค่อนข้างท้วม รูปที่ถ่ายออกมาก็จะเห็นพุงเป็นก้อนกลมยื่นออกมา) พอเกรซรู้เรื่องนี้ เธอรีบโทรไปบอกบ๊อบทันทีว่าอย่าให้ใครรีทัชพุงที่ย้อยๆ นั้นออก และบอกว่า คนที่ไม่มีพุงก็คือพวกนายแบบตามนิตยสาร แต่การได้เห็นพุง ทำให้เราได้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบที่คนธรรมดาทั่วไปเขาเป็นกัน ไม่มีใครในโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบหรอก เธอบอกไว้แบบนั้น

และก็เป็นเกรซอีกนั่นแหละ ที่พูดไว้ว่า เวลาที่นั่งรถไปไหนต่อไหน อย่ามัวแต่หลับ เพราะการมองผ่านกระจกหน้าต่างรถ ทุกสิ่งที่เราเห็น ล้วนเป็นแรงบันดาลใจใ้ห้เราได้เสมอ…อืมห์ ชอบเกรซจริงๆ

ในเรื่องมีการพูดถึง designer ไทยที่ชื่อ ฐากูร ด้วย (น่าภาคภูมิใจแทน) ดูเหมือนแอนนาจะยอมรับในฝีมือของเขามาก ตอนที่ฐากูรมาเสนองานให้แอนนา เขายอมรับว่าตื่นเต้นจนมือสั่น ในความรู้สึก เขาเปรียบแอนนาเหมือนมาดอนน่าของวงการแฟชั่น ส่วนแอนนานั้น ออกปากเลยว่าฐากูรเป็นคนเก่งและดูท่าทางจะส่งเสริมให้ฐากูรได้รับการยอมรับในวงการแฟชั่นมากยิ่งขึ้นด้วย (ดีใจแทนคนไทยที่เก่งๆ และสามารถสร้างชื่อเสียงให้ต่างชาติยอมรับได้)

บทสรุปของเรื่องก็คือหนังสือทำออกมาได้ตามที่ตั้งใจไว้ ภายใต้การนำเสนองานแฟชั่นสวยๆ ที่หลากหลายของเกรซ และการเลือกแบบชี้ขาดของแอนนา ว่าไปแล้ว ผู้หญิงแบบเกรซคือผู้หญิงที่มีความคิดสร้างสรรค์ เธอสามารถเสาะแสวงหา (find) แฟชั่นต่างๆ มานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ในขณะที่แอนนาต้องตัดสินใจเลือก (focus) ว่าควรจะนำเสนออะไร ตัดอะไรทิ้ง ตามแนวทางของเธอเอง ซึ่งถือว่าเป็นคนที่มีความสำคัญทั้งคู่ หากขาดคนใดคนหนึ่งไปงานก็คงไม่สำเร็จ

ดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงการทำงานในชีวิตจริง หากเราได้ทีมทำงานที่เก่งๆ ต่างคนต่างมีความรับผิดชอบ ไม่ก้าวก่ายงานและให้การยอมรับนับถือกันและกัน การทำงานนั้นจะสนุกสักแค่ไหนหนอ…