จงตามหาอาจารย์ของคุณ

รูปภาพ

จงตามหาอาจารย์ของคุณ” เป็นชื่อบทความย่อยในหนังสือเล่มหนึ่งของอาจารย์คิมรันโดที่ชื่อว่า “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” หนังสือที่ผู้เขียนเห็นว่าคนที่เป็นครูหรือศิษย์ทุกคนควรได้มีโอกาสได้ลองอ่านสักครั้ง เพราะคำโปรยบนปกหนังสือที่บอกว่า “ดีจริง” นั้น ไม่ได้พูดเกินจริงเลยแม้แต่น้อย

ในบทความตอนนี้ อาจารย์คิมรันโดพูดถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยที่แม้จะกำหนดให้อาจารย์เป็นผู้ตัดสินเกรดเฉลี่ยของนักศึกษา แต่ก็พยายามผลักดันให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่แท้จริง (ซึ่งดูเหมือนจะย้อนแย้งกันอยู่ในตัว) ในขณะที่มหาวิทยาลัยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น “ระดับโลก” มากขึ้น เรากลับพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ดูจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ในอดีตที่อาจารย์เปรียบเหมือนพ่อแม่คนที่สอง ถึงขนาดมีคำกล่าวของเม่งจื้อที่ว่า “การสอนลูกศิษย์ที่ดี เป็นความปิติชั่วชีวิตของอาจารย์” แล้วอะไรล่ะที่ทำให้ความสัมพันธ์เหล่านี้เปลี่ยนไป?

อาจารย์คิมรันโดเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้อาจารย์และศิษย์ในปัจจุบันห่างเหินกันมากเป็นเพราะ “การพัฒนา” ของมหาวิทยาลัย เช่น การมีตึกใหม่เพิ่มขึ้น การมีห้องสมุดเพิ่มมากขึ้น หรือการมีทุนการศึกษามากขึ้น แม้กระทั่งการเพิ่มความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์ ฯลฯ แต่การพัฒนาเหล่านั้นลืมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ไป สังเกตจากการที่อาจารย์ในสมัยนี้ยุ่งกว่าสมัยก่อนมาก เพราะต้องเป็นทั้งผู้สอน ผู้วิจัย ผู้ให้บริการวิชาการ และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจารย์ต้องถูกประเมินความสามารถด้วย โดยพบว่าอาจารย์ทุกคนถูกพิจารณาตำแหน่งจากผลงานวิจัย การตีพิมพ์ผลงานวิชาการ จำนวนเงินที่ได้รับจากงานวิจัย การให้บริการวิชาการ การมีส่วนร่วมในองค์กร การทำงานบริหาร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จึ่งทำให้อาจารย์ต้องทำงานหลายหน้าที่ และลงท้ายด้วยคำว่า “ยุ่งมาก”

และแม้มหาวิทยาลัยจะเพิ่มเกณฑ์การประเมินผลการเรียนการสอนมากขึ้น แต่การประเมินนี้ก็ไม่สำคัญเทียบเท่ากับผลงานต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมา ดังนั้นอาจารย์จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเตรียมคาบเรียนให้สมบูรณ์แบบ หรือสอนให้ดีที่สุด สนุกที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม อาจารย์คิมรันโดบอกไว้ว่า ไม่ใช่ว่าอาจารย์ทุกคนจะเป็นแบบนี้ เพราะมีอาจารย์บางส่วนที่ตั้งใจสอนลูกศิษย์อย่างเต็มที่ และท่านยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้งานวิจัยและงานบริการวิชาการเป็นเครื่องแสดง “ความฉลาด” ในฐานะอาจารย์มากกว่าการสอน อาจารย์ส่วนใหญ่จึงสอนน้อยลง เพื่อไปทำงานวิจัย หน้าที่การสอนจึงตกเป็นหน้าที่ของอาจารย์พิเศษแทน ผลที่ตามมาคือ อาจารย์ถูกลดคุณค่าลง (มหาวิทยาลัยอาจมุ่งมั่นเรื่องอันดับมหาวิทยาลัยโลก แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ในมหาวิทยาลัยสั่นคลอน)

นอกจากนี้อาจารย์ยังได้พูดถึงผลลัพธ์ของการที่อาจารย์ยุ่งมากจนไม่มีเวลาให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับศิษย์ รวมทั้งการที่ศิษย์ต้องเลือกเรียนวิชาทั่วไปในปีแรก (ซึ่งเป็นปีสำคัญและอ่อนไหวของศิษย์ที่ต้องการคำชี้แนะมากมาย) ทำให้ศิษย์ห่างครู-ครูห่างศิษย์ จนกว่าจะมาใกล้ชิดกันเมื่อเลือกวิชาเอกในชั้นปีที่ 2 (ซึ่งบางทีก็ดูเหมือนจะช้าเกินไปสำหรับการให้คำปรึกษา) และด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อาจารย์ดูเหมือนจะมีหน้าที่ทำตามคำขอร้องของมหาวิทยาลัยในฐานะผู้สอน ส่วนนักศึกษามีหน้าที่เคารพอาจารย์ในฐานะผู้ให้ความรู้ ก่อให้เกิดช่องว่างและความรู้สึกอ้างว้างระหว่างสองฝ่าย นักศึกษาจึงไม่กล้าปรึกษาเรื่องส่วนตัวกับอาจารย์ เมื่อลูกศิษย์ไม่มาพบ อาจารย์อ้างว่านักศึกษาไม่มาหาเอง ส่วนนักศึกษาก็แย้งว่าอาจารย์ไม่ให้เวลา เป็นวัฎจักรแบบนี้เรื่อยไป…แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร?

“ขอโทษจริงๆ” อาจารย์คิมรันโดขึ้นต้นวิธีแก้ไขปัญหาด้วยคำๆ นี้ (อาจด้วยคำแนะนำที่ดูเหมือนเข้าข้างฝ่ายอาจารย์ก็ได้) ท่านแนะนำว่า นักศึกษาควรเป็นฝ่ายเข้าหาอาจารย์ก่อน และมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาจะต้องขอร้องให้อาจารย์หันกลับมาใส่ใจลูกศิษย์อย่างแท้จริง และไม่ว่าวิธีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมที่ตามมาจะคืออะไร ท่านเสนอว่าสิ่งหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ได้ทันที คือ การไปพบอาจารย์บ่อยๆ เพราะท่านเชื่อว่า ถึงแม้อาจารย์จะยุ่งในการทำวิจัยมากแค่ไหน แต่ไม่มีอาจารย์ท่านไหนกล้าปฏิเสธลูกศิษย์ที่มีปัญหาเมื่อมาขอคำแนะนำ (เพราะยังไงอาจารย์ส่วนใหญ่ก็ยังเรียกตนเองว่า “ครู” ซึ่งเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้กับผู้อื่น) นอกจากนี้ท่านยังเสริมอีกว่า นักศึกษาหลายคนอาจไม่ทราบว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ขี้อายกว่าที่คิด และคิดว่าการเข้าหานักศึกษาก่อนเป็นเรื่องยาก

เพราะฉะนั้น สำหรับนักศึกษาทุกคน…แม้หลายครั้งจะรู้สึกลำบากใจในการไปพบอาจารย์ แต่อาจารย์คิมรันโดก็ยังยืนยันว่า “จงไปหาอาจารย์ของคุณ” เพราะท่านเหล่านั้นมีประสบการณ์ชีวิตและความรู้ด้านการศึกษาพรั่งพร้อม อย่ามัวนั่งกังวลใจอยู่เพียงคนเดียว หรือขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่ที่ยังอ่อนประสบการณ์เช่นเดียวกับคุณ แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์จะถูกแบ่งแยกโดยระบบของมหาวิทยาลัยและสังคม “คุณจงเริ่มเป็นผู้สานต่อมัน และจงอย่าลังเลใจ รีบไปพบอาจารย์ของคุณเถอะ”

อ่านบทความนี้จบแล้ว อยากบอกนักศึกษาทุกคนที่ตัวเองดูแลอยู่และกำลังประสบปัญหา (ไม่ว่าจะในระดับไหน) ว่า มาหาครูเถอะ ครูพร้อมจะดูแลพวกเราทุกคน ถ้าดูแลไม่ได้ ครูจะหาคนที่เก่งกว่าและดีกว่ามาช่วย เพราะครูเองก็เชื่อว่า แม้ตัวเองงานจะยุ่งแค่ไหน แต่การได้รับโอกาสสอนลูกศิษย์ให้ได้ดี ก็เป็นความปิติชั่วชีวิตของครูเหมือนกัน

อ้างอิง
คิมรันโด. (2556). เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด (พิมพ์ครั้งที่ 15).แปลโดย วิทิยา จันทร์พันธ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ springbooks.

เมื่อมีปัญหา ให้…

phome-05

…บางครั้ง คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า “ต้องเก่งแค่ไหน” แต่อยู่ที่ว่า “ต้องเก่งอย่างไร”…คำโปรยบนหน้าปกหนังสือ “มีของต้องสำแดง” ของ ภูมิชาย บุญสินสุข บอกไว้แบบนั้น

หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มที่ชอบมากขนาดต้องอ่านแบบหมกหมุ่นรวดเดียวจบ (ซื้อที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ) เริ่มอ่านตอนขึ้น airport link ไปสุวรรณภูมิ (25 นาที) นั่งอ่านหน้า Gate B1B รอขึ้นเครื่องไปเชียงใหม่ (40 นาที) อ่านบนเครื่องแบบต่อเนื่องมาจบตอนที่กัปตันประกาศว่า “Cabin crew, prepare for landing” (น่าจะใช้เวลาในการอ่านประมาณ 45 นาที) สรุปหนังสือความหนา 288 หน้า ใช้เวลาอ่านไปทั้งหมด 110 นาที โอ้..เท่ากับดูหนังจบหนึ่งเรื่องพอดีนะนั่น!!

ถือเป็นหนังสือคำศัพท์และสำนวนภาษาอังกฤษที่อ่านสนุกมาก อาจเพราะตัวอย่างและเรื่องเล่าประกอบมีเสน่ห์อย่างเหลือเชื่อ ทั้งยังทันสมัยและกวนโอ้ยสุดๆ

ชอบเรื่องเล่าของศัพท์แต่ละเรื่องซึ่งส่วนใหญ่จะมีความหมายลึกซึ้งในตัวของมันเอง เช่น เมื่อมีปัญหา, ให้หายใจ (Breathe, and reboot) เขาเขียนไว้ว่า “…เมื่อมีอะไรห่วยๆ ซวยๆ มึนๆ เกิดขึ้นในชีวิต วิธีที่ดีที่สุดอาจเป็นแค่การรีสตาร์ท คือหยุด ตั้งหลัก แล้วทำใหม่ อย่าไปมัวหมกมุ่น แล้วตั้งคำถามว่า -ทำไมต้องกู ๆๆ- ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย หลายๆ ครั้ง เราจะพบว่าการตั้งคำถามก็ไม่ได้นำมาซึ่งคำตอบแต่อย่างใด…ชีวิตเราก็คงไม่ต่างอะไรกับคอมพิวเตอร์ คือต่อให้สเปคสูง แรมจอร์จ เมนบอร์ดยอดเยี่ยม เพนเที่ยมสูง ก็มีโอกาสแฮงก์กันได้ทั้งนั้น…”

นอกจากนี้ก็ยังมีคำอีกหลายคำที่ทั้งแปลและเล่าออกมาได้อย่างน่ารัก เช่น ก็บอกว่าไม่ได้ว่าไม่ได้ว่า (No offense) หน่อยน่า (Humor me) บ้านบ้าน (Vanilla) ดี, แต่ไม่ชอบ (Not my thing) เยอะ (High-maintenance) เกิดมาทำอะไร (Reason for being) ฯลฯ

สำหรับคนที่ไม่ถนัด (และแอบกลัวความยาก) ภาษาอังกฤษ อยากให้ลองอ่านงานของบุญชายดูค่ะ  เผื่อจะรู้สึกว่า “ชักจะชอบ” (Grow on you) ขึ้นบ้าง…นิดหนึ่งก็ยังดี ^_^

เศร้าจังเลยประเทศชาติ…

รูปภาพ

“การล่มสลายของสถาบันครอบครัว ที่ความรักไม่อาจเยียวยา” เป็นหนังสือที่อ่านแล้วร้าวใจเหลือเกิน

เรื่องราวเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงฝันร้ายตัวเอกของเรื่องที่เชื่อว่า “ชีวิต คือ ผลพลอยได้จากกามารมณ์ และตัวเธอเองก็คือมารหัวขนของใคร ๆ”

“ในภาพนั้นมีศพของ ฉันนอนอยู่ในโลงศพแก้ว บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยคนที่ฉันรู้จัก แต่งตัวใส่ชุดขาวบ้างดำบ้างเพื่อให้เกียรติแก่ฉัน เพื่อน ๆ ซึ่งสนิทกันน้ำตาซึมแสดงความดีใจที่ฉันสามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จ”

บันทึกถึงจิตแพทย์ที่สะท้อนถึงภาวะอารมณ์ที่เปล่าดาย หดหู่ใจ

“อยู่คนเดียวเหมือนถูกทอดทิ้ง บางทีก็น้อยใจ บางทีก็ดีใจที่มีโลกส่วนตัว หนูมีโครงการว่าจะสูบกัญชาให้เมาหัวทิ่มโลกไปเลย พอสร่างก็ได้โลกใบเดิม…”

“จิตแพทย์ของข้าพเจ้า … แม่ไม่ยอมพูดกับหนูเลย เงียบดีนะ แต่อึดอัดพิกล เหงาจังเลยประเทศชาติ”

“ฉันเป็นคนดีมาตลอดมิใช่หรือ ฉันอดทนต่อทุกอย่าง ฉันถูกทำร้ายจิตใจ พ่อฉันไม่รัก แม่ฉันยังไม่รักอีกคน แล้วชีวิตที่ไม่มีความรักมันจะอยู่ได้อย่างไร อยู่ได้สิ… อยู่โดยไม่ต้องรักใครด้วยเหมือนกัน ต่อไปนี้ฉันจะไม่รักแม้แต่ตนเอง”

และบทสรุปของเรื่องที่ว่า…

“แม่บอกว่าเธอทำให้แม่เป็นทุกข์
และต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
พ่อและญาติๆ ของพ่อต่างก็เกลียดเธอ
และผลักไสเธอสู่วิถีแห่งความเจ็บปวด
ไม่มีสิทธิ์ร้องขอสิ่งใด

ไม่มีอ้อมแขนแข็งแรงของพ่อ
ไม่มีอ้อมอกอบอุ่นของแม่
ไม่มีบ้านพักพิงยามว้าเหว่
มีแต่ฝันร้ายตลอดคืน
แล้วเธอจะโหยหาสิ่งใด
การมีชีวิตอยู่ หรือ ความตาย”

แล้วเธอก็เลือก…

อ่านแล้วเห็นชัดเจนถึงลูกโซ่ของ unwanted child, child abuse และ violence in the family เศร้าจังเลยประเทศชาติ…

หมอดูแม่น..หรือเพราะเราทำให้แม่น?

รูปภาพ

“เรื่องของคน” เป็นหนังสือเล่มเล็กบาง ของ นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมและสัญชาตญาณการใช้ชีวิตของคนเรา รวมถึงข้อจำกัดทางด้านการรับรู้ที่ทำให้เรามีโอกาสปฏิบัติกับคนรอบข้างอย่าง มีอคติ (ซึ่งเราอาจไม่รู้ตัว)

ว่ากันว่าในกระบวนการรับรู้ สมองของเราจะคิดหรือตัดสินอะไรบางอย่างโดยอัตโนมัติ ซึ่งเกิดจากการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่คุ้นเคยมาแล้วในอดีต “ความประทับใจแรก” หรือ first impression ถือเป็นประสบการณ์หนึ่งที่ส่งผลต่อการรับรู้ของเราในปัจจุบัน

มีงานวิจัยหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ในการสัมภาษณ์เพื่อรับคนเข้าทำงาน ทัศนคติของคณะกรรมการจะขึ้นอยู่กับการรับรู้ของพวกเขาในช่วงสี่นาทีแรกของ การสัมภาษณ์เท่านั้น ช่วงเวลาที่เหลือหลังจากนั้นจะไม่มีผลอะไรต่อการตัดสินใจเลย

เช่นเดียวกับหัวหน้างานที่มีความประทับใจแรกที่ดีกับลูกน้องคนหนึ่งแต่ไม่ดี กับลูกน้องอีกคนหนึ่ง เวลาแบ่งงาน ความประทับใจแรกจะส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของหัวหน้างานด้วย จึงมีแนวโน้มว่าหัวหน้างานจะมอบงานสำคัญให้กับลูกน้องคนที่ไว้ใจได้ ในขณะเดียวกันก็จะมอบงานที่ไม่สำคัญให้กับลูกน้องที่ตนเองรู้สึกไม่ดีด้วย พอถึงเวลาประเมินผลปลายปี ลูกน้องคนแรกที่ได้งานสำคัญจึงมีโอกาสมีผลงานโดดเด่นกว่าลูกน้องคนที่สอง เพราะได้งานที่สำคัญกว่า ในกรณีแบบนี้หัวหน้างานไม่รู้ตัวว่าความลำเอียงของตนเองนั่นแหละที่ทำให้ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นไปตามที่ตนเองเชื่อจริงๆ และคิดว่าตนเองได้ตัดสินลูกน้องทุกคนอย่างเป็นธรรมตามผลงานที่เกิดขึ้นอย่าง เป็นรูปธรรม ปรากฎการณ์แบบนี้มีชื่อเรียกว่า Self-fulfilling Prophecy หรือ คำพยากรณ์ที่ส่งเสริมตัวของมันเอง

ปรากฎการณ์แบบนี้ยังพบได้จากคำทำนายของหมอดู เช่น หมอดูทายว่า อายุเท่าไรจึงจะเจอเนื้อคู่ ถ้าเราเป็นคนที่เชื่อหมอดูอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำทำนายแบบนี้มีโอกาสเป็นจริงได้มาก เพราะเมื่อไรก็ตามที่ชีวิตเราไม่สอดคล้องกับคำนาย เช่น พบคนที่ถูกใจก่อนเวลาที่หมอดูทำนายไว้ เราก็จะพยายามจะไม่ลงเอยกับคนนั้น เพราะเชื่อว่าเขาไม่ใช่เนื้อคู่ที่แท้จริง สุุดท้ายสิ่งที่หมอดูทำนายไว้จึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุด

อ่านหนังสือแล้วคิดต่อ สงสัยว่าตัวเองก็คงโดยฤทธิ์ของ Self-fulfilling Prophecy ไม่มากก็น้อยล่ะ..^_^

ขอบคุณโลกใบนี้ ที่มีชักโครก

ว่ากันว่า ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแค่เกมการเมือง สงครามและการรบราฆ่าฟัน จริงๆ มันมีมากกว่านั้น ที่สำคัญมันมีเรื่องส้วมกับอึด้วย!!!

“อึ เล่าประวัติศาสตร์” หรือ Poop happened! เป็นหนังสือเบาๆ ที่เล่าเรื่องหนักของอารยธรรมโลก ที่ผู้เขียน (Sarah Albee) บอกว่า เล่าจาก “ก้นบึ้ง” (ของก้นจริงๆ?) โดยบอกเล่าถึงเรื่องสามัญที่สุดอย่างการ อึ ของผู้คนและวิวัฒนาการของห้องน้ำห้องส้วมตั้งแต่ยุคโบราณถึงยุคปัจจุบัน แต่ละบทจะเล่าเรื่องราวของแต่ละยุคสมัย (เน้นที่สังคมตะวันตกเสียเป็นส่วนใหญ๋) และมีการตัดปะเหตุการณ์สนุกๆ หลายอย่างที่เกี่ยวกับกิจกรรมการขับถ่ายของมนุษย์ ตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงพระราชา

ผู้เขียนเริ่มต้นเล่าเรื่องการรอดชีวิตของคณะมนตรีในกรุงปราก (ที่เราเห็นสวยๆ ในกลรักลวงใจ นั่นแหละคะ..สวยจนใครๆ ก็อยากตามรอยพี่รันกับน้องบัวไปเที่ยวบ้าง…คนเขียน blog ก็คนหนึ่งล่ะ ฮ่าๆๆ) แต่กรุงปรากสมัยนั้น ไม่เหมือนสมัยนี้ มีขบถเดินขบวนมากมาย และพวกเขาก็จับองคมนตรีและคนรับใช้ “โยนบก” ออกนอกกำแพงปราสาทสูง 50 ฟุต สิ่งที่น่าทึ่งคือ คนที่ถูกโยนบกทั้งหมดรอดชีวิต เพราะพวกเขา…ตกลงไปบนอึกองมหึมา (โอ้ แม่ เจ้า….)

แล้วทำไมเราต้องสนใจประวัติศาสตร์ของ “อึ” ด้วย หรือเพราะใครๆ ก็อึ…อุ้ย ยิ่งเขียนยิ่งวกวน ชวนหยึยย… อย่างไรก็ตามผู้เขียนบอกว่าอย่าหมิ่นพลังอึ เพราะอึที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงมากมายตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ว่ากันว่า การประดิษฐ์ส้วมชักโครกที่ราคาไม่แพงนักเป็นปริมาณมากๆ คือสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในอารยธรรมของเรา และเราเองอาจต้องขอบคุณโชคชะตาฟ้าลิขิต ที่ทำให้เราเกิดมาในยุคที่มีส้วมแล้วอย่างทุกวันนี้ เพราะอะไรนะหรือ…

เพราะในประวัติศาสตร์ เราล้วนได้รับทราบเรื่องราวว่ามีโรคร้ายหลากหลายที่เกิดขึ้นจากสาเหตุการเดินท่อน้ำไม่ดี เกิดการปนเปื้อนของน้ำกับสิ่งปฏิกูลต่างๆ ทำให้เกิดโรคที่ทำให้ผู้คนล้มตายไปนับล้านๆ คน ยกตัวอย่างเช่น อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ และโรคบิด ซึ่งเชื่อกันว่าทำให้ทหารตายลงเป็นจำนวนมากกว่าที่ตายเพราะถูกยิงในยามสงครามเสียอีก

ในหนังสือผู้เขียนเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของอึ ปัญหาของส้วมก่อนสมัยประวัติศาสตร์ (เชื่อกันว่ามนุษย์ในสมัยแรกๆ คงจะไม่ได้ห่วงมากนักว่าจะปลอดทุกข์กันตรงไหน เพราะในสมัยนั้นเราย้ายที่อยู่กันอย่างง่ายๆ ปัญหาของพวกเขาน่าจะเริ่มขึ้นเมื่องหยุดร่อนเร่ และตั้งถิ่นฐานลงในที่ใดที่หนึ่ง) พูดถึงอียีปต์ (มีพิระมิต แต่ไม่มีกระโถน แต่เริ่มมีที่หั่งหินปูนที่เจาะรูตรงกลาง) จนมาถึงอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ที่เริ่มมีการเดินท่อน้ำอย่างเหมาะสม จนมาถึงสมัยกรีกโบราณ โรมัน…เข้าสู่ยุคสมัยของการวางท่อและขุดคลองส่งน้ำ (โชคดีของคนเขียน blog ที่ได้ไปเห็นคลองส่งน้ำโบราณขนาดใหญ่ที่อิสตันบูล..ทำให้มองภาพประวัติศาสตร์ได้ชัดเจนขึ้น) ชาวโรมันนั้นเป็นพวกแรกที่ใช้ท่อตะกั่วเรียกว่า พลุมบุส (pulmbus = ตะกั่ว = Pb ในตารางธาตุ) ชาวอังกฤษจึงเรียกการเดินท่อว่าพลัมมิง (plumbing) ในสมัยนั้นชาวโรมันไม่ได้ใช้กระดาษชำระ แต่ในห้องน้ำสาธารณะจะมีถังใส่น้ำเกลือ ภายในถังมีฟองน้ำติดด้ามไม้วางอยู่ เราจะใช้ฟองน้ำเพื่อถูก้น จากนั้น…ก็เก็บไว้ในถังให้คนอื่นใช้ต่อไป (ว้าว…)

หลังจากนั้นผู้เขียนก็พูดถึงประวัติศาสตร์ยุคกลาง ยุคที่อัศวินสวมเกราะ…แล้ว อัศวินอึยังไง??? เวลาเราดูภาพยนตร์ในยุคนี้ก็จะเห็นมีขุนนางและสุภาพสตรีแต่งตัวสวยงาม ขึ้นขี่ม้าบนถนนปูหินที่สะอาดสะอ้าน ผู้เขียนบอกว่า อย่าปล่อยให้ภาพยนตร์พวกนั้นหลอกตา เพราะในความเป็นจริงบ้านเมืองในสมัยนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่สกปรก เนื้อตัวมีแต่รอยแผล แออัดตามถนนแคบๆ สกปรกเลอะเทอะ ฯลฯ  ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? นั่นก็เพราะชาวคริสต์ในยุคกลางเชื่อว่าการชำระร่างกายเป็นบาป น้ำอุ่นอาจทำให้เกิดความคิดที่ไม่บริสุทธิ์ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงเป็นดีที่สุด ความเชื่อเช่นนี้ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้สร้างพระราชวังแวร์ซายล์ (ว่ากันว่า ทรงอาบน้ำเพียงสองครั้งเท่านั้น..ในชีวิตวัยผู้ใหญ่!!! และสองครั้งนั้นก็เป็นเพราะเหตุผลทางการแพทย์) เรื่องที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ ในพระราชวังแวร์ซายล์มีห้องถึง 700 ห้อง มีสุนัขล่าเนื้อ 500 ตัว และมีคนอยู่อาศัยประมาณสองหมื่นคน แต่ในพระราชวังมีเก้าอี้ถ่ายเพียง 275 ตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้คนจึงปลดทุกข์ที่ไหนก็ได้ทุกแห่งหน ระเบียงอันแวววาว ห้องต่างๆ สนามหญ้า ล้วนตลบอวบอวลไปด้วยกลิ่นเหม็นของอุจจาระของคนและสัตว์ (รวมกลิ่นของคนที่ไม่ได้อาบด้วย) โอ้ย..โย่…

ยิ่งอ่านยิ่งมันส์ ยังไม่ถึงเรื่องของชักโครกสักที (ฮา)

โดยสรุป หนังสือเขียนเล่าประวัติศาสตร์การเกิดส้วมและการอึได้สนุกมากค่ะ ถึงแม้ส่วนใหญ่จะมีข้อจำกัดเรื่องการเล่าแค่ประเทศทางแถบยุโรป แต่ก็ทำให้เราได้เห็นวิวัฒนาการของงานอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราอยู่ในเมืองที่แออัดได้สุขสบายขนาดนี้ เลยอยากจะบอกว่า ขอบคุณโลกใบนี้ ที่มีชักโครก (และมีกระดาษชำระ ที่ทำให้เราไม่ต้องใช้ฟองน้ำเช็ดก้นแบบใช้แล้ว…ให้คนอื่นใช้ต่อค่ะ ^^)

อ้างอิง
Sarah Albee (ธวัชชัย ดุลยสุจริต แปล). 2554. อึ เล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

แขน…มีไว้เพื่อกอด

“55 เหตุผลที่คุณควรกอดก่อนตาย” (55 reasons to hug before it’s too late) เป็นชื่อหนังสือที่มีเนื้อหาน่ารักของ ไพลิน ถาวรวิจิตร บอกเล่าเรื่องราวความสุขของการกอด ที่ไม่ต้องซื้อหาด้วยเงินทอง แต่สามารถทำได้ด้วยสองมือที่ธรรมชาติมอบให้เรามาตั้งแต่เกิด

ว่ากันว่า “กอด” ก็เหมือนกับยา ใช้ได้วันละ หลาย ๆ เวลาในแต่ละวัน เพราะสรรพคุณของการกอดนั้นสามารถแก้โรคที่เกิดกับหัวใจ บรรเทาอาการโศกเศร้า กระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่น ช่วยให้หายปวดหัว และเพิ่มพลังในการใช้ชีวิตได้ (ข้อห้ามคือ ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อกับคนที่ไม่ได้สนิทสนมทางใจ ^^)

บางถ้อยคำในหนังสือบอกไว้ว่า…

Hugging holds hearts together.
“กอด” ช่วยยกระดับความสัมพันธ์

Hugging is a simultaneous giving and receiving.
การ “กอด” คือการได้ให้และการได้รับพร้อม ๆ กัน

You are never too old to hug your mother.
การ “กอด” แม่ไม่ใช่สิ่งน่าอายถึงโตแล้วก็กอดได้

ข้อสุดท้ายนี่เห็นดีเห็นงามเป็นที่สุด ไม่มีใครแก่เกินไปที่จะกอดแม่ (และพ่อหรือคนที่เรารัก ชอบ ชื่นชม…ข้างหลังนี่ผู้เขียนแต่งเติมเอง)

ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า เหตุผลของการที่เราควรกอดใครสักคนน่าจะมีมากกว่า 55 ข้อเสียด้วยซ้ำ แต่ใจหนึ่งก็ค้านขึ้นมาว่า หรือจริงๆ เหตุผลในการกอดอาจมีแค่ข้อเดียวก็ได้ คือ เรากอดเพราะอยากกอด เรากอดเพราะรู้ว่าผลที่ตามของการกอดทำให้เราหรือคนที่ถูกกอดมีความสุข หรือมันอาจไม่มีเหตุผลเลยก็ได้สำหรับการจะกอดใครสักคน…เพราะมันอาจเป็นเรื่องของ “ใจ” ไม่ใช่ “เหตุผล” เอ้า…ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่าน (ฮา)

แต่ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเหตุผล สิ่งสำคัญน่าจะเป็นเรื่องของการลงมือ “กอด” มากกว่า เพราะเหตุผลถึงแม้จะสวยหรูดูดีแค่ไหน หากเราไม่ลงมือทำ มันก็จะเป็นแค่การกอดในความคิด ซึ่งคงไม่ก่อให้เกิดมรรคผลที่ดีงามใดๆ ตามมา

อย่างไรก็ตามเหตุผลทั้ง 55 ข้อที่ว่ามา ก็ถือว่าเป็น “แรงบันดาลใจ” ที่ดีในการที่จะทำให้ใครสักคนลุกขึ้นมากอดใครสักคนได้ หนึ่งในเหตุผลน่ารักๆ สำหรับคนที่ชอบคิดว่าตัวเองอวบเกินพอดี ก็คือ  “กอดทำให้รู้ว่ายังมีคนอ้วนกว่าเรา” ฮ่าๆๆ 

อ่านหนังสือแล้วคิดตาม คิดต่อ…
เป็นไปได้ไหม ที่วัตถุประสงค์ของการมีแขนของคนเราอาจไม่ได้จำกัดไว้แค่เพื่อการดูแลตัวเองหรือเพื่อการทำงาน… แต่มีไว้เพื่อกอดด้วย

คุณแม่ 30 คะแนน (My mother is not perfect)

“คุณแม่ 30 คะแนน” เป็นนิยายภาพของ Takagi Naoko ว่าด้วยเรื่องของคุณแม่ลูกสามผู้ไม่ถนัดเรื่องทำอาหารและงานบ้านเอาซะเลย แม้จะทุลักทุเลกับการเลี้ยงลูกอยู่บ้าง แต่ทั้งครอบครัวก็สุขสันต์หรรษา ลันลา มีความสุขอยู่เสมอ และลูกๆ ก็ยังรักแม่เป็นชีวิตจิตใจ ทาเคงิ นาโอโกะ บอกว่า เธอเขียนเรื่องนี้จากประสบการณ์และความทรงจำในวัยเยาว์  (ในฐานะลูกสาวคนกลางของบ้าน) นอกจากนี้ก็ยังได้รับข้อมูลจากคำบอกเล่าระคนรำลึกความหลังของพ่อกับแม่และพี่สาว ที่สำคัญคือ “บันทึกการเลี้ยงลูก” ของคุณพ่อของเธอ ที่เก็บรายละเอียดทุกอย่างไว้ดีเยี่ยม

อ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกถึงความทุ่มเทในการเลี้ยงลูกของแม่ชาวญี่ปุ่น (ถึงแม้ว่าจะไม่ perfect อย่างที่ผู้เขียนบอกไว้ก็ตาม) แถมยังได้เรียนรู้ถึงความคิดคำนึงของเด็กน้อยวัยเยาว์ที่พยายามเรียกร้องความสนใจจากแม่ จนบางครั้งก็เลยเถิดทำให้ตัวเองต้องเจ็บตัว รวมถึงลูกสาวที่ออกเสียงคำบางคำไม่ได้ (เช่น ส.เสือ) สุดแสนจะทำให้แม่กลุ้มใจ และพาลนึกไปว่า ตัวเองเลี้ยงดูลูกไม่ดีเหมือนคนอื่นเขา นอกจากนี้เรื่องราวในหนังสือก็ยังแฝงข้อคิดเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก อย่างเช่น การซื้อของเล่นให้ลูกสาวสองคนเพียงชิ้นเดียว เพื่อให้รู้จักการแบ่งปัน

ที่ชอบที่สุดในเรื่อง ก็คือ ถึงแม้เรื่องราวในบ้านจะวุ่นวายเจี๊ยวจ๊าวแค่ไหน ทุกคนก็มีความสุข เป็นความสุขที่เกิดขึ้นเพราะคุณแม่ คนที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในบ้านนั่นเอง

ส่วนที่ชอบอีกอย่างในหนังสือก็คือ ปกใน ที่บรรดาผู้เขียน ผู้แปล และกองบรรณาธิการ พากันวงเล็บต่อหลังชื่อตัวเองว่า อาหารรสมือแม่สุดโปรดของตัวเองคืออะไร อ่านแล้วทำให้นึกถึงกับข้าวฝีมือแม่ (ตัวเอง) ทำเอาน้ำลายสอ (ฮา)

เหมือนกับทุกครั้งที่อ่านหนังสือ ความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นทำให้ตัวเองนึกถึงแม่ในชีวิตจริง (เห็นด้วยกับ ทาคางิ นาโอโกะ อย่างยิ่งว่า แม่ผู้รักและทุ่มเทให้ลูกนั้นไม่ได้อยู่เพียงในฝัน) นึกถึงวัยเยาว์ของตัวเองที่เดินตามแม่ต้อยๆ ที่เป็นภาพจำและนึกถึงอย่างมีความสุขอยู่บ่อยๆ คือ ตอนที่แม่พาไป “ช้อนอีฮวก” (ทางเหนือจะมีอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ไผ่เป็นรูปสามเหลี่ยม มีด้ามจับ เรียกว่า “แซะ” ใช้หาพวกปลาเล็กปลาน้อย และอีฮวก (ลูกอ๊อดกบ) เวลาจะช้อน จะวางแซะไว้บนปลักโคลน แล้วใช้เท้าข้างหนึ่งกวาดดินโคลนที่มักจะมีปลาหรืออีฮวกปนอยู่เข้าไปในแซะ เมื่อยกแซะขึ้น น้ำและดินโคลนจะลอดแซะออกไป เหลือไว้แต่กุ้ง หอย ปลา หรืออีฮวก ที่ต้องการ) ตอนนั้นจำได้ว่าสิ่งที่กลัวที่สุดตอนช้อนอีฮวกคือ “ปลิง” แต่แม่ก็จะมีวิธีช่วยลดความกลัวให้ นั่นก็คือ เมื่อมีปลิงมาเกาะขาแม่ แม่ก็จะเรียกให้มาดู แล้วบอกวิธีว่า จะเอาปลิงออกจากขาได้ยังไง (สาธิตให้เห็นแบบจะๆ เนียนๆ ต่อหน้าเลย ฮ่าๆๆ)

เขียนไปก็คิดถึงความหลังครั้งเก่าที่มีความสุข การได้ทำกิจกรรมกับครอบครัวแบบรื่นรมย์นี่มันคือสุดยอดของความสุขในชีวิตจริงๆ และถือว่าโชคดีเอามากๆ ที่ปัจจุบันก็ยังมีโอกาสแบบนั้นเป็นครั้งคราว

วันก่อน กอดแม่แล้วรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง แม่ที่เคยแข็งแรงในอดีต ตอนนี้ตัวเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ถึงกำลังกายจะทดถอย แต่กำลังใจและการดูแลลูกก็ไม่เคยลดน้อยลงกว่าเดิม แม่ยังคงเตรียมอาหารอร่อยๆ ไว้ให้ทานทุกครั้งที่กลับบ้าน และแม่ยังคงจัดเตรียมของอร่อยๆ ไว้ให้ก่อนออกจากบ้านเสมอ (อาหารรสมือแม่สุดโปรด : แกงขนุน)

อยากบอกแม่ว่า แม่ คือผู้หญิงที่ดีที่สุด ในชีวิตของลูก แต่ลูกจะไม่บอกรักแม่ตรงนี้…เพราะจะไปบอกรักแม่ตรงหน้าค่ะ ^^

ชาวนาใจร้อน…

“ชาวนาใจร้อน” เป็นพระราชนิพนธ์และภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเขียนไว้เมื่อปี 2550 เป็นหนึ่งในหนังสือเล่มเล็กๆ ของโครงการภูฟ้า ที่อ่านแล้วให้ข้อคิดปนขำจากเรื่องที่เล่า โดยเฉพาะกับการแอบคิดของพระองค์ท่านท้ายเรื่อง เนื้อเรื่องกระชับ ภาพประกอบน่ารัก แบบนี้ค่ะ…

จบแล้วค่ะ ^^

ฉันมีเธอคนเดียว..ในเม็ดเลือดแดง

คำถาม: หากให้คุณมุนินวาดรูปแทนความรักที่ไม่ใช่รูปหัวใจ คุณมุนินคิดว่าจะวาดอะไรครับ?
คำตอบ: คงวาดรูปเม็ดเลือดแดงค่ะ สีแดงๆ เหมือนกัน… “ฉันรักเธอและมีเธอ…คนเดียวในเม็ดเลือดแดง” คงจะน่ารักดี

ประโยคข้างบนเป็นคำถาม-คำตอบจากบทสัมภาษณ์ผู้เขียนการ์ตูนมุนิน ซึ่งโดนใจผู้เขียนมาก เพราะสงสัยกับตัวเองมานานเหลือเกินว่า ทำไมรูปที่ใช้แทนความรักต้องเป็นรูปหัวใจด้วยล่ะ เราสามารถสร้างสรรรูปแบบความรักของเรา ตามที่ใจต้องการ…ไม่ใช่เหรอ

ยิ่งได้มีโอกาสอ่านเนื้อหาของการ์ตูนเล่มนี้ยิ่งถูกใจ มีทั้งเรื่อง รัก เศร้า เหงา และซึ้ง อย่างที่เจ้าของเขาว่าไว้นั่นแหละ ตอนที่ชอบมีอยู่หลายตอน ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ชายที่ออกกระดาษ” “แพะผู้เขากับฉัน” “คนในกรอบรูป” และ “ผู้หญิงที่สวยที่สุด” แต่เรื่องที่อยากเขียนถึงคือเรื่องนี้ค่ะ แพะภูเขากับฉัน…

ภาพเปิดเรื่อง…
หญิงสาวหน้าตาธรรมดาคนหนึ่งกำลังยืนถ่ายเอกสาร (คาดว่าเธอคือนางเอก หรือ “ฉัน” คนนั้น) ขณะยืนถ่ายเอกสารเธอก็เหลือบไปมองผังการทำงานของผู้บริหาร สายตาไปหยุดอยู่ที่รูปใบที่อยู่สูงสุด…(ชายหนุ่มหน้าตาดี และมีตำแหน่งเป็นประธานบริษัท) ด้วยความคิดชั่ววูบ เธอดึงรูปท่านประธานลงมา แล้ววางลงบนเครื่องถ่ายเอกสาร ทันใดนั้น ก็ได้ยินเสียงเรียก..
“น้ำขึ้น!!”
เธอตกใจมากเมื่อเห็นท่านประธานมายืนอยู่ใกล้ๆ พร้อมกับเอ่ยปากว่า
“..ตกใจอะไรเหรอ?”
เธอละลักละล่ำตอบกลับไปว่า “ปะ..เปล่าคะ มีอะไรให้รับใช้เหรอคะ?”
ท่านประธานหนุ่มตอบกลับมาว่า “ก็ว่าจะให้ช่วยทายเอกสารให้ผมหน่อย”
“ทายอะไรนะคะ” เธอทำหน้างงๆ
“ทายเอกสาร..”
“อ๋อๆ ค่ะๆ เดี๋ยว…เอาไปให้ที่ห้องนะคะหัวหน้า”
“ดีเลยครับ ขอบคุณมาก”
(ภาพทั้งหมดมีข้อความบรรยายเสริมว่า…ฉัน เป็นพนักงานบริษัทตัวเล็กๆ ที่ไม่มีบทบาทอะไรโดดเด่น…เป็นพนักงานธรรมดาใส่แว่น ตกกระและแต่งตัวเชย แต่ดันมาหลงรักเจ้านายที่เป็นคนญี่ปุ่น)

แล้วเรื่องราวของสาวน้ำขึ้น (จริงๆ เธอชื่อน้ำผึ้ง แต่ท่านประธานคนญี่ปุ่นเรียกไม่ถูก) กับประธานหนุ่มก็เริ่มต้น ณ บัดนั้น เป็นเรื่องราวที่ชวนให้เข้าใจผิดเพราะภาษาไทยที่ไม่แข็งแรงของท่านประธานกับการเปรียบเปรยตัวเองเป็นเสมือนแพะภูเขาของสาวน้ำผึ้ง ที่รำพึงรำพันยามเสียใจเพราะความรักไว้ว่า…ทุกครั้งที่มีความรัก ฉันจะจำแต่เรื่องของแพะภูเขา สัตว์สี่เท้าที่ปีนขึ้นยอดเขาสูงได้ และฉันก็เชื่ออย่างสุดหัวใจ ว่าฉันเป็นมัน และถ้ามุ่งมั่น จะไปให้สูงถึงเท่าไหร่ก็ย่อมได้ แต่ใช่ว่าแพะทุกตัวจะขึ้นไปได้ถึงยอดเขา และฉันคือแพะที่ตกลงมาตาย…

แต่เมื่อเหตุการณ์กลับพลิกล็อค ทำให้สาวน้ำผึ้งสมหวังกับความรักในที่สุด เธอก็สรุปไว้ว่า…ว่ากันว่าแพะภูเขาโง่จนไม่รู้ว่าที่สูงขนาดนั้น ทำให้มันตกลงมาแข้งขาหักหรือตายได้ แต่ก็เพราะมันกล้าที่จะมองข้ามความล้มเหลว มันจึงทำได้สำเร็จ ฉะนั้นหากใครกล้าฝันไว้สูง..ก็น่าจะลองดูสักตั้งนะคะ (น้องน้ำผึ้งเธอบอกไว้แบบนั้น)

การ์ตูนตอนนี้น่ารักมาก ยิ่งเวลาอ่านใส่อารมณ์แบบคนญี่ปุ่นพูดไทยไม่ชัดด้วยก็ยิ่งขำ ขำพระเอก ขำนางเอก และขำคนเขียนค่ะ เข้าใจผูกเรื่องจริงๆ

ส่วนอีกตอนที่ชอบก็คือ “ผู้ชายที่ออกกระดาษ” ที่สรุปความของคำว่า “ผู้หญิง” ไว้จับใจ มุนินบอกว่า ผู้หญิง คือ คนที่ต่อให้คุณรู้ว่าเธอจะออกกรรไำกร ยังไง…คุณก็ต้องออกกระดาษอยู่ดี (ฮ่าๆๆ เข้ากับ concept อาร์ทตัวแม่ของโน้ต อุดมสุดๆ)

อ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้วทำให้มีมุมมองต่อความรักงดงามขึ้น โดยเฉพาะความรักของครอบครัว เพื่อน และคนรัก ตอนที่อ่านแล้วน้ำตาซึมก็คือตอน “คนในกรอบรูป” ซึ่งทำให้ผู้เขียนต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เราเป็นคนในกรอบรูปที่กลับไปเยี่ยมบ้านบ่อยแค่ไหน…

อยากบอกว่า…
หากรักครอบครัวสุดเม็ดเลือดแดง…ปีใหม่นี้อย่าลืมกลับบ้านกันนะคะ ^^

อ้างอิง
มุนินทร์ สายประสาท. 2553. การ์ตูนมุนิน 2. กรุงเทพฯ: จ้ำอ้าวสำนักพิมพ์

เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน

เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของ ดุสิต หวันฯ ซึ่งเป็นนักเขียนชนะเลิศรางวัล “พานแว่นฟ้า” ของปี 2550 โดยส่วนตัวผู้เขียน blog เองไม่เคยอ่านงานของเขามาก่อนเลย แต่สาเหตุที่ซื้อหนังสือเล่มนี้ ก็เพราะคำแค่คำเดียวคือ “แม่มัน” บนหน้าปก (ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าคำแค่คำเดียวจะมีอิทธิพลต่อคนซื้อได้ขนาดนี้)

อาจเพราะคำว่า “แม่มัน” ในภาษาเหนือเป็นคำที่สามีใช้เรียกภรรยาแบบสนิทสนม ในขณะที่ภรรยาก็จะเรียกสามีว่า “พ่อมัน” ด้วยเช่นกัน เห็นแล้วก็อดนึกถึงบรรยากาศง่ายงามของสังคมในชนบทไม่ได้ แต่พอได้อ่านเนื้อเรื่องในหนังสือ จึงทราบว่า คำว่า “แม่มัน” นั้นเป็นคำที่ทางภาคใต้ของเราก็นิยมใช้กัน ว่ากันว่าเป็นคำที่ใช้เรียกภรรยาด้วยความนับถือ (ช่างเป็นความเหมือนที่น่าแปลกใจ คิดไ้ด้อย่างเดียวว่า เหนือ-ใต้ ใช่อื่นไกล…เพราะเราคือคนไทยเหมือนกัน)

พูดตามตรง เรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่องมีที่อ่านแล้วเข้าใจอยู่ประมาณ 5 เรื่อง อีก 5 เรื่องมีความรู้สึกว่ายากแก่การเข้าใจ อาจเพราะจับประเด็นไม่ได้ว่าผู้เขียน (ดุสิต หวันฯ) ต้องการสื่ออะไร หรือเพราะผู้อ่านเองไม่ได้เข้าใจสังคมและการเมืองทางใต้ลึกซึ้งนัก ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงงานแบบนี้ได้ดีพอ

เรื่องที่ชอบที่สุดก็คือ “เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน” นี่แหละ ชอบคำพูดที่ว่า “…ไม่ว่ามหาสงครามหรือการสู้รบเล็กๆ สุดท้ายมันจะเขย่าผู้คนออกเป็นสองฝ่ายอยู่ดี…” ซึ่งเข้ากับสถานการณ์การเมืองบ้านเราตอนนี้มาก …ไม่ว่ายังไง เราก็มักจะถูกผลักดันให้เลือกข้าง(สี) อยู่ดี เพียงแต่ว่าเราเลือกที่จะเอ่ยออกมาดังๆ หรือเปล่าเท่านั้น

ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น “อบต.กับจระเข้” ก็น่าสนใจ และสะท้อนวิถีชีวิตและการทำงานของท้องถิ่นหลายๆ แห่งได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับเรื่อง “ไถนาเพรียวไรซ์เอ็กซ์ปอร์ต” ที่เสียดสีชีวิตชาวนาไทยแบบเหนือจริงได้ถึงแก่น พาลนึกต่อไปว่า ความฝันของชาวนาอาจเป็นจริงเข้าสักวัน ถ้าวันนั้นเกษตรกรรมสามารถเอาชนะหรือปฏิรูปอุตสาหกรรมไ้ด้…

สำหรับคนที่ชอบเรื่องสั้นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและการเมือง งานของดุสิต หวันฯ ก็นับว่าน่าอ่านไม่น้อย อย่างน้อยก็ทำให้เรารับรู้ว่า เราต่างติดอยู่ในแนวรบ (ของคนอื่น) จริงๆ นั่นแหละ และเราจะเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามแบบนี้อย่างไร ให้อยู่รอดหรือบาดเจ็บน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้…