อาจารย์ในความทรงจำ: สายสัมพันธ์

555

หลังจากหายตะลึงกับลายเซ็นที่อยู่ตรงหน้า คำถามแว๊บแรกที่ผ่านเข้ามาก็คือ “จะใช่ไหม?” “จะใช่จริงหรือ?” “มันจะบังเอิญขนาดนั้นเชียวหรือ?” มองหน้าอาจารย์ก็ดูไม่คุ้น ที่เคยนึกถึงผมฟูๆ ตอนนี้ก็ไม่ฟูแล้ว แถมผมของท่านก็ลดน้อยถอยร่นขึ้นไปบนหน้าผากอย่างเห็นได้ชัด ด้วยความที่ขณะเซ็นชื่อเป็นช่วงเวลาพักเบรค เมื่ออาจารย์เริ่มบรรยายต่อ จึงรีบกลับไปดูสมุดบันทึกที่หอพัก (หอพักอาจารย์กับตึกเรียนห่างกันไม่มาก) หยิบสมุดบันทึกมาเทียบลายเซ็น ให้ตายเถอะ มันคือลายเซ็นของคนๆ เดียวกันเป็นแม่นมั่น!!

กลับมานั่งฟังบรรยายด้วยใจรื่นๆ ดีใจมาก รอคอยที่จะถามให้ชัดเจนอีกครั้ง หลังอาจารย์บรรยายเสร็จ จึงเปิดสมุดบันทึกให้อาจารย์ดู แล้วถามท่านว่า ลายเซ็นในสมุดคือของอาจารย์หรือเปล่า ท่านทำหน้างงๆ แต่ก็ยอมรับว่าใช่ เลยได้โอกาสเล่าเรื่องที่เคยเรียนกับท่านตั้งแต่ปีหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน รวมถึงความประทับใจและเรื่องราวสืบเนื่องจากผลของความประทับใจนั้น ขอบคุณสิ่งที่ท่านทำ และขอโทษที่จำชื่ออาจารย์ไม่ได้ ก็มีแต่ลายเซ็นนี่ล่ะ ที่เป็นเหมือนเส้นเชื่อมบางๆ ให้ได้ระลึกถึง ซึ่งก็ไม่เคยคิดอีกเหมือนกันว่าจะมีโอกาสได้พบกันจริงๆ ในขณะที่อาจารย์เองก็ยอมรับว่าจำนักศึกษาไม่ได้ เนื่องจากนักศึกษาแต่ละ section ก็เยอะ แต่ก็ดีใจที่ผลจากกิจกรรมในชั้นเรียนทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามตามมา หลังจากนั้น อาจารย์ก็ให้ความกรุณามาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพอีกหลายปีต่อเนื่องกัน

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากความประทับใจในการเขียนบันทึกไม่ได้จบแค่โครงการ “บันทึก (ไม่) ร้าย ของดอกไม้สีขาว” แต่ยังต่อเนื่องไปยังลูกศิษย์อีกหลายคนที่อยู่ในความดูแล นั่นคือ การแจกสมุดบันทึกให้กับเด็กๆ เพราะหวังว่ามันจะเป็นเครื่องมือในการช่วยให้พวกเขาเข้าใจตนเอง ก็ไม่รู้ว่าเป็นอิทธิพลจากตรงนี้ด้วยหรือเปล่า (หรือคงเป็นเพราะความชอบและความสามารถส่วนตัวของเด็กเอง) ที่ทำให้หนึ่งใน advisee มีนวนิยายเป็นของตนเอง ทั้งยังได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทยประจำปี 2548 หรือ Young Thai Artist Award 2005 ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปี 4 “ชินกับชุน” คือชื่อของนวนิยายเล่มนั้น

ก่อนตีพิมพ์ ทางสำนักพิมพ์ต้องการคำนิยมจากบุคคลที่น่าเชื่อถือในวงการวรรณกรรม ลูกศิษย์จึงมาปรึกษาด้วยคงเห็นว่าครูเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ใครล่ะที่น่าเชื่อถือ? นึกถึงครูบาอาจารย์ใน มช. นึกถึงคณะที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรม การเขียน นึกถึงคณะมนุษยศาสตร์ นึกถึงภาควิชาภาษาไทย และก็นึกถึงอาจารย์ที่เราประทับใจ แล้วให้บังเอิญว่าอาจารย์ท่านที่นึกถึงตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มช. พอดิบพอดี!!

ได้เห็นคนสองคน (คนหนึ่งเป็นคนที่เราเคารพ อีกคนหนึ่งเป็นคนที่เคารพเรา) ปรากฎอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน ช่างเป็นความรู้สึกปลื้มปริ่มอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ อยากขอบคุณทุกความดีงามบนโลกใบนี้ ที่ทำให้เราได้ส่งผ่านความรู้สึกดีๆ ต่อกัน ผ่านบันทึก ผ่านตัวอักษร และผ่านสายสัมพันธ์ระหว่างศิษย์-อาจารย์
——————
– The End –

อาจารย์ในความทรงจำ: ผลพวง

2015-02-03 16.18.19
ลายเซ็นหวัดๆ ที่ปรากฎต่อหน้าแบบไม่คาดฝัน ฉุดลากเอาความทรงจำในอดึตที่เกิดนับเนื่องจากการได้รับความรู้สึกดีๆ จากอาจารย์กลับมาอีกครั้ง ความประทับใจและความรักในงานเขียนดูเหมือนจะฝังรากลึกจนทำให้เกิดโครงการ “บันทึก (ไม่) ร้าย ของดอกไม้สีขาว” ที่ตัวเองและเพื่อนอาจารย์อีกคนหนึ่งร่วมกันจัดให้กับนักศึกษา

จำได้ว่าปีนั้นคือปี 2543 ช่วงนั้นยังทำหน้าที่เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่ช่วยดูแลด้านกิจการนักศึกษา ได้พบได้เห็นปัญหาเรื่องความวิตกกังวลของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 เวลาที่ต้องขึ้นฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย จึงคิดโครงการจดบันทึก (journal keeping) ขึ้นมา เพราะไปอ่านเจอว่า “การเขียนบันทึก ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยพัฒนาการรู้จักตนเอง เนื่องจากเป็นการเขียนลำดับเหตุการณ์จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทำให้บุคคลได้ระบาย ได้ทำความเข้าใจความคิดและความรู้สึกของตน ทำให้เพิ่มการยอมรับ ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนทำให้พบความหมายของชีวิตได้ลึกซึ้งขึ้น” สิ่งที่ได้อ่านช่างสอดรับกับความเชื่อส่วนตัวเหลือเกิน ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ผู้ใหญ่อีกหลายท่าน แถมยังขอเงินทุนจาก CMB ได้อีก

กิจกรรมในโครงการ หากจะอธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ เริ่มรับสมัครนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการ คนที่เข้าร่วมโครงการทุกคนได้รับแจกสมุดบันทึก โดยในบันทึกให้ใช้นามแฝง มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้แนวทางการเขียนบันทึก มีข้อตกลงการส่งบันทึกทุกวันศุกร์และรับคืนในวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์ ผู้จัดโครงการมีหน้าที่อ่านบันทึกและเขียนตอบ ให้ข้อเสนอแนะ หรือกำลังใจ ช่วงนั้นจึงกลายเป็นช่วงที่รับหน้าที่เป็น “ครูดอกไม้” ของเด็กๆ (ดูมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้งดีแท้ ^^)

ได้เห็นข้อความบางส่วนที่ได้จากการประเมินผลโครงการ ก็เหมือนได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเองตอนเรียนปีหนึ่ง วิชาภาษาไทย เด็กๆ บอกว่า “อาจารย์เขียนตอบได้ดีมาก ให้กำลังใจ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะได้ดีมากค่ะ อ่านแล้วประทับใจ” “อาจารย์ตอบปัญหาได้เข้าใจความรู้สึกของนักศึกษามากค่ะ ให้กำลังใจพวกเรามาก” “อาจารย์ตอบได้สนุก อ่านแล้วหายเครียดดีค่ะ บางข้อความก็ทำให้รู้สึกเข้มแข็ง มีพลังในการต่อสู้กับเหตุการณ์หลายๆ อย่าง และทำให้รู้ว่ายังมีคนห่วงเราอยู่” “ประทับใจในการตอบกลับมา ชอบกลอน ชอบคำพูดบางคำ ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น” “อาจารย์ให้ข้อคิด บางครั้งก็หยอกเย้ามากับตัวหนังสือพร้อมด้วยการ์ตูนรูปคนยิ้ม เวลาเปิดอ่านแล้วอดยิ้มกับตัวเองไม่ได้”

อ่านข้อความบอกเล่าความประทับใจของเด็กๆ ต่อโครงการแล้วรู้สึกมีความหวัง แสดงว่าเมล็ดพันธุ์ของการสร้างความรู้สึกดีมันมีอยู่จริง แถมยังเติบโต และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้อีกต่างหาก คำพระท่านว่า “การชื่นชมนั้นจะช่วยบ่มเพาะความดีให้งอกงามขึ้นในใจของผู้อื่น รวมทั้งดึงเอาศักยภาพด้านบวกของเขาออกมา หากความดีงามเบ่งบาน และศักยภาพด้านบวกถูกกระตุ้นอยู่เสมอ ก็จะทำให้มีพลังในการทำงานอย่างมีความสุขและเต็มประสิทธิภาพ” อาจเพราะเชื่อในพลังของคำชมแบบนี้ เมื่อต้องไปมีส่วนพัวพันกับคนที่เชื่อในพลังด้านตรงข้าม เลยพบว่า แค่ลมปากบางเบา ก็ทำเอาเกือบเสียน้ำตา…

—————————

มีต่อภาค 3

อาจารย์ในความทรงจำ: รำลึก

2015-02-03 20.43.54

มีน้องถามว่า ได้แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องต่างๆ มาจากไหน บอกน้องไปว่ามาจากหลายที่เลยล่ะ ตั้งแต่อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง และสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่หากจะถามว่า ทำไมถึงรักการเขียน คำตอบดูจะย้อนกลับไปครั้งยังเรียนปริญญาตรีปีหนึ่ง ชั่วโมงภาษาไทย กับชิ้นงานที่ต้องทำส่ง..

จำได้ว่า อาจารย์ที่สอนภาษาไทยตอนอยู่ปีหนึ่ง section ที่เรียนอยู่เป็นคนที่แปลกแต่น่ารักมาก ท่านให้ทุกคนเขียนบันทึกส่งทุกสัปดาห์ ด้วยความที่ชอบเขียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เลยรู้สึกสนุก…และเริ่มบันทึกให้อาจารย์อ่านสม่ำเสมอ

ทุกครั้งที่ได้รับบันทึกกลับมา ก็จะมีข้อความเล็กๆ ชื่นชมหรือแสดงความคิดเห็นไว้ท้ายเรื่อง หรือไม่ก็มีรูปหน้าการ์ตูนยิ้ม (^_^) อยู่เสมอ การแสดงออกถึงความใส่ใจในงานเขียนแบบนี้ ทำให้ตอนนั้นประทับใจมาก…

บางครั้งอาจารย์ให้ลองเขียนเรื่องสั้นแล้วแลกกันอ่านกับเพื่อน และให้คะแนนกัน มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เขียนแล้ว เพื่อนให้คะแนน C+ ครั้นพอส่งให้อาจารย์อ่าน อาจารย์เขียนท้ายเรื่องว่า “เรื่องนี้ผมให้ A นะ เขียนได้ดีทีเดียว” แทบจะจำความภูมิใจตอนนั้นได้ นึกถึงทีไรก็มีความสุขทุกครั้ง เลยมีความพยายามส่งเรื่องสั้นให้อาจารย์อ่านอีกหลายเรื่อง แล้วก็มักได้คำชมเช่นเดิม อาจารย์บอกว่า “เขียนเรื่องสั้นได้ดีมาก ว่างๆ อย่าลืมเอาไปส่งพิมพ์ในหนังสือ วารสารต่างๆ ดูบ้าง” หรือ “ฝึกฝนแต่งไปอีกนะ จนกว่าจะพอใจงานเขียนของตนเอง”

ในส่วนของงานเขียนที่เป็นบันทึกบอกเล่าความรู้สึก อาจารย์ก็จะ comment มาให้ทุกครั้ง เช่นเมื่อเล่าเรื่องตื่นเต้น ก็จะได้รับข้อความว่า “ทำยังกะหนังทีวี หลอกให้คนดูรอดูตอนต่อไปหรือเปล่า…อ่านสนุกมาก เขียนได้ดี” เมื่อเขียนวิพากษ์งานบางอย่าง อาจารย์ก็จะตอบกลับมาว่า “ช่างสังเกตอย่างนี้ เรียนรู้ได้มาก” หรือไม่ก็เขียนว่า “ช่างคิด ช่างเขียนดีมาก” ครั้นพอเล่าเรื่องที่หวุดหวิดจะเกิดอุบัติเหตุ ท่านก็จะบอกว่า “คนอ่านก็พลอยใจหายไปด้วย” และในวันสุดท้ายของการส่งบันทึก ท่านเขียนว่า “ในจำนวนบันทึกทั้งหมด คุณเขียนยาวที่สุด เขียนได้ดีครับ อยากให้หาสมุดบันทึกเล่มใหม่ และเขียนต่อไป ดีไหม?”

อาจารย์คงไม่รู้หรอกว่า คำพูดของอาจารย์ตอนนั้น สร้างความประทับใจมาจนถึงวันนี้ และคงเป็นส่วนสำคัญที่จุดประกายให้อยากเขียนเรื่องราวรอบตัวต่อไป ทั้งบันทึก ทั้งเรื่องสั้น แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่อาจารย์เคยบอกไว้ แต่ก็ทำให้มีความรักในงานเขียน รักที่จะประดิษฐ์อักษร เรียงถ้อยร้อยคำ เป็นประโยค เป็นเรื่องราว แม้ไม่ดีเด่นจนใครๆ ชื่นชม แต่ก็ให้ความรู้สึกดีต่อตัวเองทุกครั้งที่เขียนเสมอ

กว่าจะนึกถึงเรื่องนี้ได้ เวลาก็ผ่านไปหลายสิบปีแล้ว เมื่อกลับไปอ่านบันทึกประจำวันที่เขียนไว้ใน web neothailand ในนามของ “น้องแจ่ม” ช่วงปี 2544 พบข้อความว่า “เวลาผ่านไปหลายปี เราจำชื่ออาจารย์ไม่ได้แล้ว (แย่จัง) นึกออกแต่ว่า อาจารย์เป็นผู้ชาย ไว้ผมฟูๆ ใจดี..อย่างอื่นนึกจำไม่ได้ ในความระลึกถึง จดจำได้แต่ตัวหนังสือ ข้อความให้กำลังใจ และลายเซ็นหวัดๆ ที่อ่านไม่ออก อยากบอกว่า ถ้าไม่มีอาจารย์ ก็คงไม่มีคนที่รักการเขียนในวันนี้ ขอบคุณอาจารย์ด้วยหัวใจ…” บันทึกของปีนั้นจบที่ตรงนี้

ย่างเข้าปี 2549 ห้าปีหลังจากเขียนบันทึก เป็นช่วงที่จบปริญญาโทกลับมาทำงานที่คณะ วันหนึ่งมีโอกาสเชิญอาจารย์ท่านหนึ่งจากคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาไทย ของ มช. มาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “การฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างมีประสิทธิภาพ” ขณะที่ยื่นใบเสร็จรับเงินให้วิทยากรเซ็นชื่อ ก็เห็นลายเซ็นหวัดๆ (ที่ไม่รู้ว่าคือใคร แต่ตรึงใจมาเป็นสิบปี) ปรากฎตรงหน้า…
—————————–
มีต่อภาค 2….

น้ำตาอาจไม่ได้หมายถึงความเศร้า แต่คือการเติบโต

2015-01-31 16.17.34

จัดของแล้วนึกถึง “น้องแจ่ม” นามปากกาที่เคยใช้ในงานเขียนเล่นๆ ใน pantip กับ neothailand และเจอบันทึก “เรื่องเล่า…ที่ไม่เคยเศร้าตอนจบ” ที่เขียนไว้ในช่วงปี 2544 (14 ปี แห่งความหลัง) แม้ชื่อเรื่องจะบอกไว้แบบนั้น แต่ข้อความที่เขียนบางวันกลับดูเศร้าๆ โดยเฉพาะบันทึกวันที่ 48 เขียนไว้ว่า…

———————-

วันที่ 48: คืนรัง

หลายวันที่ผ่านมา มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย บางเรื่องเต็มไปด้วยความสนุกสนานน่าจดจำ และบางเรื่อง…ทำให้ต้องเสียน้ำตา

เรื่องบางเรื่องดูเหมือนเล็กน้อยในความคิด แต่กลับยิ่งใหญ่ในความรู้สึก มองย้อนดูอีกนิด-มันคงไม่เล็กหรอก เพราะถ้ามันเล็กน้อยจริง ทำไมถึงสั่นคลอนความรู้สึกในใจได้ ทั้งยังทำให้บ่อน้ำตาแตกอีกต่างหาก

อาจเป็นเพราะช่วงนั้น เหนื่อยและอ่อนแอ ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ…เราอาจรับมือได้ แต่ในตอนนั้น ณ วินาทีนั้น ไม่ไหวจริงๆ

ในชีวิตจำได้ว่าเคยร้องไห้อยู่ไม่กี่ครั้ง (ไม่นับเหตุการณ์สะเทือนใจที่เจอในชีวิตประจำวัน จากทีวี หนัง…และข้างทาง)

ครั้งแรก…เกิดจากความเป็นเด็ก เอาแต่ใจตัวเอง แล้วพ่อแม่ก็สอนให้ได้คิด ทำให้เลิกร้องไห้มาเกือบ 10 ปี

ครั้งที่ 2…ตอนอยู่ ม.ปลาย จำได้ว่าอยู่ในห้องสอบวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อนแอบลอกข้อสอบ…อาจารย์เห็น หาว่าเรารู้เห็นเป็นใจด้วย ตอนนั้นไม่เข้าใจว่าทำไมอาจารย์จึงว่าเรา ทั้งๆ ที่ไม่ผิด น่าเสียดาย ที่ตอนนั้นไม่มีความกล้าพอที่จะถาม ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจ…ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ครั้งที่ 3…ตอนเปลี่ยนงานใหม่ ในห้องประชุมมีการพูดกระทบกันระหว่างผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ แล้วพูดผ่านเรา บอกตรงๆ ว่าค่อนข้างงง แต่เสียใจ…และเสียน้ำตา (แต่ตอนนี้เข้าใจสถานการณ์แล้ว คงไม่เสียน้ำตากับเรื่องนี้อีก)

ครั้งที่ 4…เรื่องเพื่อน คบกันมาสิบกว่าปี ไม่คิดว่าเรื่องมันจะเป็นแบบนี้ ไม่เคยคิด และคิดไม่ถึง และไม่คิดว่าตัวเองจะเสียน้ำตาด้วย แต่ก็ยังเสียอีก (จนได้)

ก็ไม่รู้ว่าจะเสียน้ำตาเป็นครั้งที่ 5 อีกไหม แต่น้ำตาก็ช่วยชะล้างความรู้สึกเสียใจเหล่านั้นออกไปได้

ไม่เคยโกรธพ่อกับแม่ ที่ทำให้เราต้องเสียน้ำตา แต่อยากขอบคุณท่าน ที่ทำให้เราเป็นคนดี (เท่าที่จะดีได้) อยู่ในขณะนี้

ไม่เคยโกรธอาจารย์ที่ดุเรา แต่ที่เสียน้ำตา เพราะความไม่เข้าใจมากกว่า ทำให้เรียนรู้ว่า อย่าเสียใจกับเรื่องที่เราไม่ได้ทำผิด

ไม่เคยโกรธผู้ใหญ่ที่ “ตีวัวกระทบคราด” ทำให้เรียนรู้ว่า โลกแห่งความเป็นจริง บางครั้งก็แสนเจ็บปวด และเมื่อเราเติบโตขึ้น อย่าทำให้ใครรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกับที่เราเคยได้รับ

ไม่เคยโกรธเพื่อน เพราะการกระทำของเพื่อนทำให้เราได้คิดและรู้จักคำว่า “ให้อภัย”

คนเราเติบโตและเรียนรู้ชีวิตจากประสบการณ์ หากในชีวิตไม่เคยเจอสิ่งเลวร้าย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราได้รับอยู่ทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ดี

ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ปฏิบัติกับคนรอบข้างเหมือนกับที่เราอยากให้เขาปฏิบัติต่อเรา ทำสิ่งดีๆ แล้วจะได้รับสิ่งดีๆ กลับคืน..บอกตัวเองไว้แบบนั้น…

———————–

เมื่อ 14 ปี ก่อนคิดยังไง…ณ เวลานี้ก็คิดแบบนั้น และก็หวังว่าอีกสิบปีข้างหน้า จะประคองสติให้ยังคงคิดได้…ไม่ต่างจากเดิม

เขียนถึง วันสุดท้ายของปี 52

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก..รู้ตัวอีกครั้งก็จะเริ่มปีใหม่อีกแล้ว (ว่ากันว่า เวลาแห่งความสุขผ่านไปเร็วเสมอ…แสดงว่าปีนี้ไม่มีความทุกข์มากมาย จึงรู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปเร็วเหมือนติดปีก) ปีที่ผ่านมามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ทุกข์ สุข ปะปนกัน

เดือนมกราคม
ญาติๆ จากกรุงเทพมาเที่ยวที่บ้านแล้วพากันไปเที่ยวต่อที่ปาย ไปงานวันเกิดลูกชายเพื่อน  อาจารย์ที่ปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมมาดู setting งานวิจัย มี workshop ที่สาขาฯ และที่วิทยาลัยฯ ได้รายงานความก้าวหน้างานวิจัย ได้รับข่าวดีหลากหลาย (ได้ทุน สกอ., ได้ทุนไปงาน ICOH 2009) ไปทานข้าวกับอาจารย์เก่าที่มหิดล ไปหาพี่สาวที่ระยอง ไปเที่ยวกับคุณลุงและครอบครัวที่พัทยา ไปเป็นวิทยากรที่โรงพยาบาลระยอง กลับมาแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่ที่ มช. ไปเยี่ยมน้องสาวที่แม่โจ้ และกลับไปประชุมระบาดวิทยาที่กรุงเทพอีกรอบ

เดือนกุมภาพันธ์
เริ่มจากการเป็นวิทยากรหลักสูตรพยาบาลอาชีวอนามัย 4 เดือน ในสัปดาห์แรก แล้วก็กลับไปกรุงเทพเพื่อทำเรื่องเบิกเงินทุน สกอ. เรียน stat และเตรียมเก็บข้าวของกลับบ้าน เนื่องจากเรียน course work หมดแล้ว กลับถึงเชียงใหม่ช่วงปลายเดือน เริ่มเข้าอบรมประวัติศาสตร์ล้านนา

เดือนมีนาคม
เข้าเรียนภาษาล้านนาทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ พร้อมกับอบรมประวัติศาสตร์ล้านนาทุกเสาร์-อาทิตย์ ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ช่วงสัปดาห์สุดท้ายไม่ได้เข้าเรียน เนื่องจากต้องไปร่วมงาน ICOH ที่เมือง Capetown ประเทศแิอฟริกาใต้ (และได้พบ Prof. Rogers) ช่วงก่อนไปยุ่งมากๆ เพราะต้องเป็นวิทยากรเรื่องการใช้เครื่องมือ IH ที่คณะฯ วันต่อมาไปร่วม workshop Occ-Envi ที่จุฬาฯ อีกวันต้องรายงานความก้าวหน้าเรื่องงานวิจัย และเดินทางไปเคปทาว์นในวันเดียวกัน กลับจากเคปทาว์นตอนปลายเดือน ยังมีเวลาไปทานข้าวกับอาจารย์ที่ปรึกษาและเพื่อนๆ ปริญญาเอกอีก (ต่างหาก)

เดือนเมษายน
ผ่าน course NIH: Protecting Human Research Participants ไปเที่ยวนครนายก (นวดตัวในสปาของสนามกอล์ฟ) ต่อด้วยพัทยา ไปร่วมงานแต่งเพื่อน ไปวัดทำบุญช่วงสงกรานต์ ช่วยแม่ทำบายศรีงานขึ้นบ้านใหม่หลานสาว ไปทานข้าวและประชุมกับเครือข่ายนัก Ergonomics ภาคเหนือที่คณะวิศวะ มช. จบด้วยการไปร่วมงานศพอาจารย์เก่าสมัยมัธยมปลาย (ที่ไปแล้วจำใครไม่ได้เลย)

เดือนพฤษภาคม

พยายามจะออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำแบบจริงจัง ทำได้ประมาณ 2 อาทิตย์ก็ต้องหยุด เพราะต้องเดินทางเข้ากรุงเทพอีกรอบเพื่อรับทุน สกอ.งวดที่สอง ไปเีที่ยวพระราชวังสนามจันทร์  กลับมาเชียงใหม่นัดทานข้าวกับอาจารย์ที่เป็น office mate กัน พร้อมลูกสาววัย 3 ขวบสุดน่ารักของอาจารย์ เดือนนี้ไวรัสลงคอมฯ โชคดีที่กู้ข้อมูลทัน แล้วไปเข้าร่วมอบรม systematic review งานวิจัยที่คณะฯ ไปทานข้าวฉลองที่พี่ๆ รุ่นสองจบการอบรมระยะสั้น 4 เืดือน ไปส่งแม่ตรวจที่โรงพยาบาลสันทราย (พร้อมกับขายมะม่วง+มะไฟ) และจบด้วยการไปทานข้าวกับอาจารย์ในภาควิชาฯ ที่ร้านอาหารเวียดนาม

เดือนมิุถุนายน
ไปสอนอาชีวอนามัยให้กับนักศึกษารุ่น 8 ร่วมงานสายสัมพันธ์ของสาขาที่เต๋าการ์เดน วันต่อมาน้าสาวเสียชีวิต (หัวใจวาย) ร่วมงานศพ 3 วัน วันสุดท้ายพอเผาน้าเสร็จ ก็ต้องรีบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมประชุมของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พบอาจารย์ที่ปรึกษา กลับมาเชียงใหม่ พาพ่อกับแม่ไปงานขึ้นบ้านใหม่ญาติที่พร้าว และใช้เวลาทำ Mock Proposal ประมาณ 1 สัปดาห์เต็ม

เดือนกรกฎาคม
พานักศึกษาปริญญาโทไปดูงานที่โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงงาน TOYO INK ที่นิคมฯ บางปู ไปจัดบู๊ทนิทรรศการที่ BITEC บางนา พบอาจารย์ที่ปรึกษาเรื่องการทำ Mock Proposal หลังจากนั้นก็ไปเที่ยวด่านสิงขร ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์กับครอบครัวและเืพื่อนๆ ของคุณลุง ต่อด้วยไประยอง และเลยต่อไปหาเพื่อนที่เขาชะเมา จันทบุรี กลับมารายงานความก้าวหน้างานวิจัยที่วิทยาลัยฯ กลับเชียงใหม่ เพื่อรอรับนักศึกษาต่างชาติสองคนที่จะมาดูงานด้านอาชีวอนามัยในชุมชน พานักศึกษาต่างชาติไปดูงานที่กิ่วแลน้อย แล้วสองคนก็ช่วย edit Mock Proposal ให้ หลังจากนักศึกษาทั้งสองคนกลับไป ก็ไปหาเพื่อนที่คลินิกชายรักชาย พากันไปกินข้าวเที่ยง เพื่อนจากพม่าที่เรียนปริญญาเอกด้วยกันมาเที่ยวเชียงใหม่ (พาเพื่อนเที่ยวคณะฯ และ มช.) ไปร่วมประชุมเครือข่ายนัก Ergonomics ภาคเหนือครั้งที่ 2 และทำบุญสมาคมพยาบาลอาชีวอนามัยแห่งประเทศไทย สาขาภาคเหนือ ในวันเดียวกัน จบด้วยการนัดกับพี่จาก Homenet ภาคเหนือ เรื่องการทำหลักสูตรให้กับแกนนำกลุ่มเกษตรกร

เดือนสิงหาคม
สอบ QE ที่เป็น written exam ต้นเดือน  ไปทานข้าวกับอาจารย์เก่าที่มหิดล ส่งหลานสาวไปเรียนพิเศษ ตามคุณลุงไปคุยธุรกิจกับคุณณรงค์ แล้วกลับเชียงใหม่ ไปฟัง super richy  วันแม่…ให้ของขวัญแม่ กลับไปกรุงเทพฯ อีกรอบเพื่อเจอกับคุณณรงค์และสอบ oral exam ปลายเดือน (ผ่านไปด้วยดี) ก่อนกลับเชียงใหม่ ร่วมขึ้นบ้านใหม่กับคุณยายประเดิม กลับเชียงใหม่มีอาการฮอร์โมนผิดปกติ (สงสัยเครียดจากการเตรียมตัวสอบ) ไปหาหมอ ได้ยา Provera มาทานติดกัน 10 วัน ในวันเดียวกันช่วงบ่ายไปสอนเรื่อง safety ให้นักศึกษา OHN รุ่น 8

เดือนกันยายน
ต้นเดือนมีสอน risk assessment and management ให้นักศึกษา ไปดูงานบ้านแม่พริกพร้อมอาจารย์ในสาขาฯ ไปลุยโคลนจับปลาในบ่อกับญาติ ๆ (สนุกสุดๆ) เข้ากรุงเทพฯ ไปดูงานร่วมกับอาจารย์ในสาขาฯ ที่กระทรวงสาธารณสุข สำนักโรคฯ โรงงานพรานทะเล โรงงานเวลลอย โรงพยาบาลสมุทรสาคร ไปเที่ยวอัมพวา ไปสอบ CU-TEP พร้อมหลาน (ขี้เกียจรอเฉยๆ) พบอาจารย์ทีปรึกษา ได้คอมใหม่ (วันเกิด)

เดือนตุลาคม
เป็นวิทยากรให้ MT-Lab ไปส่งเพื่อนดูของที่บ้านถวาย เข้ากรุงเทพ เพื่อรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ได้ทุน Fogarty  ดูหนัง 3 เรื่องในวันเดียว (The Time Traveler’s Wife, Ponyo, Ugly Truth) ไปทานข้าวที่ริมแม่น้ำนครชัยศรี พา Prof.Hamiton และภรรยาเที่ยวในจุฬาฯ ตอนเช้า นัดพี่สาวจากระยองทานข้าวเที่ยงและดูหนังตอนบ่าย นัดอาจารย์จากมหิดลทานข้าวเย็น (คิววันนี้แน่นมากๆ) ร่วม workshop Envi Health & Journalism ไปทานอาหารอิตาลีร้านหรูแถวสุขุมวิท กลับเชียงใหม่ เริ่มงาน Proposal (แบบไม่จริงจัง)

เดือนพฤศจิกายน
เป็นผู้วิพากษ์งานด้านอาชีวอนามัยของสำนักโรคฯ ที่เชียงราย…ข้ามไปซื้อซีรี่ส์เกาหลีและหนังแผ่นฝั่งแม่สาย 69 เรื่อง ร่วมประชุมงานอาชีวอนามัยและสอนการใช้เครื่องมือ IH ใ้ห้กับนักศึกษา OHN รุ่น 8 ไปเที่ยวถนนคนเดิน เข้าร่วมอบรม Database ส่งงานหลักสูตรให้ Homenet เป็นวิทยากรให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  เป็นวิทยากรอบรมแกนนำเยาวชนด้านอาชีวอนามัยที่พะเยา ไปทานส้มตำ (อร่อย) หลัง ม.แม่โจ้กับนักศึกษา OHN รุ่น 7 ฟังดังตฤณพูดที่ รพ.สวนดอก  เข้ากรุงเทพฯ ตอนปลายเดือน และสอนอาชีวอนามัยและ Ergonomics ให้กับนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกของวิทยาลัยฯ (เป็นภาษาอังกฤษ.. แม่เจ้า…ไม่น่าเชื่อว่าสอนได้ตลอดรอดฝั่ง) ไปทานข้าวเที่ยงร้าน กบทอด ที่กาญจนบุรี ได้รองเท้า ECCO คู่ใหม่ จบปลายเดือนด้วยการไปร่วมประชุม pre-conference งาน Work Ability

เดือนธันวาคม
ร่วมงานประชุม International Conference เรื่อง Work Ability ไป shopping ที่ตลาดหลังกระทรวงการคลัง (เพิ่งเคยเจอเสื้อตัวละ 10 บาท) วันพ่อ…ให้ของขวัญพ่อ ไปเที่ยวกับครอบครัวคุณลุงที่แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน และปาย (รอบที่ 2 ของปี) หลังจากนั้นก็ไปเป็นวิทยากรให้กลุ่มเยาวชนที่เชียงราย (ขากลับรถตู้เกิดอุบัติเหตุ…ข้อมือซ้ายบวมเล็กน้อย) เริ่มเขียน proposal (แบบพยายามจะจริงจังมากขึ้น อยากให้เสร็จสิ้นปี…) ไปประสานงานกับ setting ในการทำวิจัีย ระหว่างทำงาน ก็ทำหน้าที่ทางสังคมอื่นด้วย เช่นไปส่งป้าไปโรงพยาบาล ส่งอาจารย์ที่เคารพนับถือไปดูบ้านและซื้อของ (อาจารย์ต้องการซื้อบ้านใหม่) และยังเล่นเกมใน net และอ่านหนังสือที่ชอบๆ เป็นระยะ (งานเลยไม่ค่อยจะเสร็จ…แต่ก็ก้าวหน้ากว่าเดิมมาก) จบด้วยการไปเลี้ยงฉลองท้ายปีกับเพื่อนเก่าสมัย ม.ปลาย (20 ปีผ่านไป ไวเหลือเกิน ยังนึกว่าตัวเองอายุ 18 อยู่เลย 555)

พอรู้ตัว…อีกสองชั่วโมงก็จะสิ้นปีแล้ว
ทบทวนความหลัีงเสร็จ…ก็พร้อมจะไชโยให้กับปีใหม่ที่จะมาถึง
ขอให้มีความสุขทุกวินาที……ไชโย ไชโย ไชโย…….

ปาย@Love

ว่ากันว่า…
ตอนที่เราเป็นวัยรุ่น เรามี time+energy แต่ไม่มี money
พอถึงวัยทำงาน เรามี energy+money แต่ไม่มี time
เมื่อเข้าสู่วัยชรา เรามี money+time แต่ไม่มี energy
นี่ล่ะมั้ง ที่เขาเรียกกันว่า “ความอยุติธรรมของชีวิต”

สำหรับใครก็ตามที่มีทั้ง time+energy+money พอจะเดินทางไปเที่ยวที่ไหนสักแห่งในประเทศไทย อยากขอแนะนำให้มาเที่ยว “ปาย” ค่ะ สำหรับคนที่เคยมาเที่ยวปายครั้งอดีต อาจรู้สึกว่าเมืองปายเปลี่ยนไปมาก เพราะคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จนแทบหาความสงบไม่เจอ (แต่น้องคนหนึ่งที่ย้ายจากกรุงเทพมาอยู่ปายบอกว่า ช่วงสงบของปายก็ยังพอมีอยู่ โดยเฉพาะช่วง low season)

ถ้าใครเชื่อในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปายในปัจจุบันก็ไม่ได้น่าเกลียดน่าชังอะไร นอกจากนี้การเติบโตของปายก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวดีขึ้น คนมีงานทำมากขึ้น แม้หลายคนอาจบอกว่า คนที่เข้ามาทำงานหรือทำธุรกิจในปายไม่ใช่คนปาย แต่คือคนต่างถิ่นที่เข้ามาด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรือความฝัน

สำหรับเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องที่คนทุกคนเข้าใจได้ เพราะที่ไหนมี demand ที่นั่นย่อมมี supply แต่เรื่องของความฝันกลับยากต่อการเข้าใจ ทำไมปายจึงเป็นปลายทางฝันของคนหลายคน ทำไมไม่มีใครฝันถึงเมืองอื่น ทำไมต้องเป็น “ปาย” คำตอบสำหรับคำถามนี้ คงเป็นคนที่ตามฝันมาเท่านั้นที่จะตอบได้ดีที่สุด

ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไรก็ตาม “ปาย” ในวันนี้ยังคงมีเสน่ห์อยู่เสมอ หากใครยังไม่เคยสัมผัสเสน่ห์ของความสงบ ง่าย งาม อยากเชิญชวนให้มาเที่ยวปายกันค่ะ แต่ต้องระวังเรื่องการเดินทางกันหน่อยนะคะ เพราะมีคนบอกไว้ว่า อ้วก+หลับ=ปาย (^^)

ไก่…ในอ้อมกอด

ที่บ้านเลี้ยงไก่ชนไว้สองตัว ตัวหนึ่งชื่อ “สเตฟาน” (พ่อเรียกเจ้ากุ๊ก) อีกตัวหนึ่งชื่อ “ชีฟอง” (พ่อเรียกเจ้ากิ๊ก) ทั้งสเตฟานและชีฟองเป็นไก่ชนที่ไม่ได้เลี้ยงไว้ชน แต่เลี้ยงไว้ดูเล่น มันเลยมีนิสัยไม่ค่อยเหมือนไก่เท่าไร

อาหารสุดโปรดของทั้งคู่คือ “ทุเรียนทอดกรอบ” ประเภทว่าชอบมากถึงกับมา้อ้อนขอกิน เวลาที่ไ้ด้ยินเสียงแม่เปิดถุงกรอบแกรบ มันจะมายืนรอ และถ้าแม่เปิดถุงช้า มันจะกระโดดขึ้นมาจิกที่ถุง เหมือนกับจะบอกว่า “เร็วๆ หน่อย หรือเมื่อไรจะได้กินสักที” ดูเหมือนว่าทุกคนในครอบครัวก็จะหลงไก่สองตัวนี้มาก โดยเฉพาะสเตฟาน ซึ่งมีนิสัยชอบมายืนใกล้ๆ ชอบขึ้นมายืนบนอกหรือขาเวลาที่พ่อหรือแม่นอนเล่นใต้ถุนบ้าน เรียกได้ว่ามันคงเป็น สัตว์เลี้ยงแสนรักของครอบครัวของเราไปแล้วล่ะ

ยังไงก็ตาม วีรกรรมของสเตฟานที่ทำให้เกือบๆ ต้องถูกเนรเทศออกไปนอกบ้านก็มีอยู่ไม่้น้อย อย่างวันหนึ่ง ไม่รู้ว่ามันหงุดหงิดเรื่องอะไร ขณะที่พ่อกำลังโปรยข้าวให้ มันก็เข้ามาดีดที่หน้าแข้งพ่อ ทำเอาพ่อเลือดไหลโชกเพราะเดือยของมันทั้งยาวและแหลม (ตามประสาไก่ชน) ทำเอาพ่อเซ็ง เลยยกเจ้าสเตฟานให้น้าชายที่เลี้ยงไก่ชนไป กะว่าจะไม่เลี้ยงอีกต่อไปแล้ว (เนื่องจากเลี้ยงแล้วไม่เชื่อง…ฮึ่ม!)

ตอนนั้นผู้เขียนไม่ได้อยู่บ้าน เมื่อรู้ว่าสเตฟานถูกยกให้คนอื่นไปแล้ว เลยขอร้องให้พ่อขอกลับมาเลี้ยงใหม่ และเสนอให้ตัดเดือยออก เพราะยังไงก็ไม่ต้องการเอาไปชนกับใครที่ไหนอยู่แล้ว (ที่ต้องตัดเดือยออกเพราะกลัวมันจะเผลอดีดเท้าแม่ เนื่องจากแม่เป็นเบาหวาน ถ้าเท้าเป็นแผลจะรักษาลำบาก) เจ้าสเตฟานจึงได้กลับมาอีกครั้งพร้อมกับเดือยที่สั้นกุด

ปรากฎว่าในระหว่างที่สเตฟานอยู่กับน้าชายนั้น มันก็ถูก train ให้เป็นเหมือนไก่ชนทั่วไป เช่น ถูกจับให้วิ่งออกกำลังกาย ให้ชน (ซ้อม) กับไก่ตัวอื่น (ประมาณว่าถูกจับไปเข้าค่ายดัดสันดาน) พอมันกลับมานิสัยเลยไม่เหมือนเดิม จากที่เคยยอมให้กับชีฟอง คราวนี้ไม่ยอมแล้ว ภาพแบบนี้เลยเกิดขึ้นบ่อยๆ

จากเดิมที่เคยขังไว้ในกรงเดียวกัน ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว ต้องกั้นกรงออกเป็นสองส่วน แล้วให้แยกกันอยู่ เวลาปล่อยออกมาเล่นข้างนอกก็ต้องคอยระวังไม่ให้ชนกันจนเลือดตกยางออก (โชคดีที่ไม่มีเดือยแล้ว…เลยไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร)

ยังไงก็ตาม เวลาที่มันไม่คึกจัดแบบนี้ มันก็เป็นไก่ที่น่ารักมาก ที่ชอบก็คือมันยอมให้กอดนิ่งๆ เวลาเอามือลูบหัวมันเบาๆ มันจะค้อมหัววางพักบนข้อศอกเงียบๆ แบบนี้

เฮ้อ…ไก่อะไรก็ไม่รู้…น่ารักจริงๆ

คนรู้ใจ…ที่ไม่ใช่แฟน

อยากเขียนถึงพี่สาวที่แสนดีคนหนึ่ง ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นพี่น้องร่วมสายเลือด ไม่ได้เป็นญาติใกล้ชิด…แต่กลับรู้สึกผูกพันกันมากมาย (ถ้าเชื่อว่าเวรกรรมมีจริง…ต้องบอกว่าพี่สาวกับผู้เขียนคงทำ “กรรมดี” ร่วมกันมาในชาติที่แล้ว จึงได้มาหนุนนำกันในชาตินี้)

เราพบกันครั้งแรกในโลกของ internet ใน “ถนนนักเขียน” ของ website pantip.com ตอนนั้นจำได้ว่าตัวเองเขียนเรื่องหลายเรื่องลงใน website เรื่องเด่ินๆ ก็คือ “เรื่องเล่าจากห้อง ICU” ซึ่งมีคนเข้ามาอ่านและ comment มากมาย และการ comment ของคนที่เข้ามาอ่านตอนนั้น ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาดอกไม้ในการแสดงความคิดเห็นต่อกัน (ไม่เหมือนสมัยนี้…ดูจะรุนแรงและไม่ค่อยแคร์ความรู้สึกของคนอื่น) น่าเสียดายที่ไม่ได้ save รายละเอียดของข้อความเหล่านั้นเก็บไว้ เพราะรู้สึกว่าเป็นข้อความที่ให้กำลังใจกันจริงๆ ในถนนนักเขียนตอนนั้นจะมีนักคิดนักเขียนหลากหลาย แต่ละคนจะมีความโดดเด่ินในเรื่องการเขียนต่างกันไป ใครชอบแบบไหนก็เข้าไปอ่านหรือติชมกันไ้ด้ คล้ายๆ กับที่เขาเรียกกันว่า “แฟนคลับ” ในสมัยนี้

สำหรับผู้เขียนเองใช้นามปากกาว่า “น้องแจ่ม” เนื่องจากเริ่มต้นเขียนเรื่องที่มีตัวละครชื่อน้องแจ่ม ซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 12-13 ปี ที่ต้องเข้าไปรักษาตัวอยู่ในห้อง ICU แห่งหนึ่ง สิบกว่าวันที่น้องแจ่มอยู่ใน ICU เธอได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านบันทึกที่สะท้อนการทำงานของพยาบาล หมอและคนไข้ที่อยู่ในห้องร่วมกัน (ซึ่งจริงๆ ก็คือการสะท้อนภาพของ ICU ตามมุมมองของผู้เขียน จึงทำให้ผู้เขียนเองรักเรื่องนี้มาก และภูมิใจที่สามารถเขียนได้จนจบ กลับไปอ่านที่ไรก็จะรู้สึกว่า ตอนนั้นตัวเองก็มีทัศนคติต่อโลกในเชิงบวกไม่น้อยไปกว่าตอนนี้เลย…)

ความสัมพันธ์ของคนเขียนเรื่องกับคนอ่านในถนนนักเขียน ณ  เวลานั้นดีมากๆ บางทีเราก็เขียนเรื่องเกี่ยวพันถึงกัน บ้างก็ขอชื่อและลักษณะเฉพาะตัวของเพื่อนนักเขียนไปสร้างเป็นตัวละครใหม่ อย่างเรื่อง “ตะวันรุ่งกับเดือนแจ่ม” ที่คุณคนไทยในลอนดอนบอกไว้ว่า “…ขออนุญาตกล่าวถึงที่มาของเรื่องนี้ก่อนนะครับ นั่นคือ จากช่วงเวลาที่ผมได้เขียนเรื่องราวมาในถนนนักเขียน ก็มีผู้อ่านหลายท่านได้ติดตามและเขียนแสดงความเห็นตอบผมมาตลอด โดยเฉพาะในขณะที่ผมเขียนเรื่อง วัฏจักรแห่งนิรันดร์ และมีการหยอกกันเล่นๆ ว่า ผมจะนำชื่อบางท่านมาเป็นตัวละครในเรื่องใหม่ที่คิดว่าจะเขียน และทำให้ได้ชื่อสองท่านที่ผมเห็นว่าเพราะ นั่นคือคุณ rising_sun และคุณน้องแจ่ม (ขออภัยที่เอ่ยนามครับ) โดยในตอนแรกผมตั้งชื่อว่า ตะวันรอนและเดือนแจ่ม แต่ก็มีผู้อ่านหลายท่านกรุณาทักท้วงมาว่าชื่อตะวันรอนนั้นหมายถึงอาทิตย์ตกดิน ผมจึงได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อ “ตะวันรุ่งกับเดือนแจ่ม” ในที่สุด…”

บ้างก็แต่งกลอนเพราะๆ ให้ อย่างคุณหนอนสุรา ที่เขียนส่งมาว่า
ดาวพราวพรายพร่างฟ้า……………………..พาฝัน
ดาวกระพริบกระซิบสวรรค์…………………สั่งฟ้า
สั่งฝากแจ่มแรมจันทร์……………………….จรลับ ลาฤา
เพรียกเรียกอยากเห็นหน้า…………………..แจ่มเจ้าจันทร์นวลฯ

นอกจากเพื่อนนักเขียนที่คุยกัน ผู้เขียนก็มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนนักอ่านคนอื่นๆ อีกหลายคน และ “พี่สาว” ก็เป็นหนึ่งในนั้น จำได้ว่าเราคุยกันผ่านการ comment ไม่กี่ครั้ง เพียงแต่ว่าในช่วงเวลานั้น ผู้เขียนได้เข้ามาเรียนต่อปริญญาโทที่กรุงเทพ จึงได้นัดทานข้าวกันพร้อมกับเพื่อนนักเขียนอีกคนหนึ่ง

ว่ากันว่า internet เป็นเพียงประตูบานหนึ่งที่เปิดให้เราเข้าไปพบเจอใครต่อใครหลายคนที่เราไม่อาจเจอะเจอได้ในโลกปกติ อาจด้วยข้อจำกัดของระยะทางหรืออื่นๆ แต่เมื่อได้เปิดเข้าไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราเองแล้วล่ะ ว่าเราจะเลือกที่จะพบคนแบบไหนหรือเลือกที่จะคุยกับใคร สำหรับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะคงจะเป็นเรื่องง่ายที่จะท่อง internet ด้วยความปลอดภัย แต่สำหรับเด็กๆ การไร้ซึ่งประสบการณ์หรือความไร้เดียงสา เป็นเหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้พวกเขาถูกล่อลวงได้โดยง่าย ดังนั้นในโลกที่ high technology เข้ามามีบทบาทสำคัญกับการดำรงชีวิตแบบนี้ ผู้ปกครองจึงควรให้ความใส่ใจกับการท่อง web ของลูกด้วย อย่าคิดเพียงว่า “…ดีกว่าลูกไปติดยาบ้าหรือมั่วกับเพื่อนข้างนอก” เพราะในความเป็นจริง โลกภายใน internet (ที่ลูกเข้าไปคลุกคลีอยู่) อาจแย่ยิ่งกว่าโลกภายนอกที่เราสามารถมองเห็นด้วยสองตา…ก็เป็นได้

สำหรับผู้เขียน เป็นเรื่องที่โชคดีมากๆ ที่ได้เรียนรู้ internet ในยามที่ตัวเองเป็นผู้ใหญ่ ได้พบ ได้คบกับคนดีๆ ในโลกไซเบอร์ อย่าง “พี่สาว” ซึ่งตอนนี้เราทั้งคู่ก็เปิดประตูออกจากโลกใบนั้นและคุยกันอย่างเปิดเผย ได้รู้จักครอบครัวของกันและกัน ได้โทรคุยหรือบอกเล่าเรื่องราวของกันและกันเสมือนหนึ่งเป็นพี่น้องท้องเดียวกันที่คลานตามกันออกมา

มันอาจเป็นเรื่องแปลกที่เวลาเริ่มต้นเล่าเรื่องของการพบกัน เราขึ้นต้นด้วยคำว่า “…เจอกันทาง internet” แต่เรื่องที่แปลกมากกว่านั้นก็คือเราสามารถคงความสัมพันธ์ที่ดีๆ ต่อกันได้ต่อเนื่องและยาวนาน และเนื่องจากเรามีอายุที่ห่างกัน 1 รอบพอดี (12 ปี) จึงทำให้เราสองคนพูดกันเล่นๆ ว่า “พี่สาวคืออนาคตของผู้เขียน ส่วนผู้เขียนก็คืออดีตของพี่สาว” เราเรียนรู้ชีวิตผ่านอดีตและปัจจุบันของกันและกัน เพื่อตบแต่งให้ชีวิตในอนาคตเข้ารูปเข้ารอยและงดงาม  ทุกครั้งที่พูดคุยกันก็จะพูดแต่เรื่องสร้างสรรดีงาม พากันไปสู่ทางที่สว่างขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งอาจคือความหมายของคำว่า กัลยาณมิตร) จึงถือว่าเป็นคนรู้ใจ…ที่ไม่ใช่แฟน

อยากบอกพี่สาวว่า ขอบคุณมากมาย สำหรับคำปรึกษา กำลังใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อน้องสาวคนนี้ตลอดมา ขอบคุณช่วงเวลาดีๆ ที่เราได้พบและคบกัน ขอบคุณจากหัวใจค่ะ…

ภาพเขียน ต่างมุมมอง

ว่ากันว่า ณ ห้วงเวลาเดียวกัน คนที่มีจุดยืนต่างกัน ย่อมมองเห็นโลกต่างกัน และภาพที่เห็นยังสะท้อนประสบการณ์และทัศนคติของคนคนนั้นต่อโลกอีกด้วย

ภาพเขียนสามภาพนี้ ยืนยันได้ดีที่สุด
img006_resize

img005_resize

img007_resize

เรื่องของดินฟ้าอากาศ

ตอนนี้ที่เชียงใหม่อากาศดีมาก เช้าๆ ชอบมีฝนตกพรำๆ หลังฝนตกเวลามองขึ้นไปยังดอยสุเทพ จะเห็นปุยเมฆขาวลอยอ้อยอิ่งคลุมยอดดอย มองทีไรไม่เคยเบื่อ

วันก่อนตอนนั่งเครื่องกลับจากกรุงเทพ ก็เห็นวิวของเชียงใหม่เป็นแบบนี้

DSCF0207

ยังนึกดีใจว่า ได้กลับมาอยู่ในบรรยากาศที่เงียบสงบเสียที หลังจากไปผจญความร้อนอบอ้าวและความวุ่นวายที่กรุงเทพเสียหลายวัน แต่ไม่นึกว่าของจริงจะดีกว่าที่คิดไว้

อากาศในห้องที่อยู่ปัจจุบันก็เย็นสบายโดยไม่ต้องเปิดพัดลมหรือแอร์ช่วย น่าแปลกที่อากาศบนตึกสูงกลับดีกว่าอากาศในชนบท หรืออาจเป็นเพราะฝนที่ตกพรำอยู่ทุกวัน ทำให้อากาศในตัวเมืองเย็นแบบไม่อบอ้าว โดยเฉพาะเวลาที่ฝนกำลังตก อากาศจะเย็นขึ้นอีกเล็กน้อย ได้หนังสือดีๆ สักเล่ม นอนซุกผ้าห่มอุ่นๆ อืมห์…มีความสุขกับดินฟ้าอากาศแบบนี้จัง…