เรื่องเล่าแต่เยาว์วัย

ตอนที่ยังเด็ก จำได้ว่าช่วงเวลาที่ชอบมากที่สุดคือการได้วิ่งเล่นกับเพื่อนสนิทที่มีอยู่ด้วยกันสามคน เป็นสามใบเถาที่เห็นคนหนึ่งก็ต้องเห็นอีกสองคนอยู่ใกล้ๆ และความทรงจำที่ไม่เคยจางหายไปก็คือ ตอนที่ไปวิ่งเล่นกันตามคันนาที่มีต้นข้าวเขียวๆ เต็มท้องทุ่ง จู่ๆ ฝนก็เทลงมาแบบไม่ลืมหูลืมตา เราสามคนจึงวิ่งไปหลบฝนอยู่ใต้ “ครุ” (ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ก้นแคบปากกว้าง ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณสองเมตร) ที่ถูกวางคว่ำทิ้งไว้ข้างนาข้าว ช่วยกันหากิ่งไม้ขนาดหนึ่งฟุตสองอันมาค้ำให้ปากครุเปิดขึ้น เพื่อที่ว่าเราจะได้นอนเรียงกัน เอามือเท้าคาง แล้วมองฝนตกแบบสบายใจ ภาพฝนตกหนักจนมองอะไรไม่เห็น…ภาพฝนค่อยๆ ซาลง ทำให้มองเห็นท้องทุ่งชัดขึ้นๆ เขียวสุดลูกหูลูกตา เป็นภาพความงามของทุ่งนาที่ฝังใจ และไม่เคยลืมจนบัดนี้

เบื่อจากวิ่งเล่นกลางทุ่งนา พวกเราก็พากันไปขโมยผลไม้ตามสวนต่างๆ (ซึ่งเจ้าของสวนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นญาติๆ ของพวกเราทั้งสามคนนั่นแหละ) จริงๆ ถ้าขอเขาก็ให้ แต่ไม่ชอบ ชอบไปแอบขโมยกันมากกว่า แล้วไม่รู้เป็นเพราะอะไร ผลไม้อะไรก็ตามที่ขโมยมา มักจะอร่อยกว่าที่ได้มาแบบฟรีๆ เสมอ

บางวันก็พากันไปเล่นน้ำในคลองเล็กๆ ข้างหมู่บ้าน ช่วงนั้นจำได้ว่าละครเรื่องเงือกสาวเจ้าสระกำลังฮิต ในละครต้องมีการแข่งว่ายน้ำ ซึ่งต้องโดดน้ำพร้อมๆ กัน พวกเราก็เอามั่ง ยืนเรียงกันบนไม้กระดานแผ่นเดียวที่พาดเป็นสะพานข้ามคลอง ขย่มตัว ทิ้งน้ำหนักลงบนไม้กระดาน แล้ว…ไม้ก็หักดัง “โพล๊ะ” เงือกสาวทุกคนรีบตะกายขึ้นจากน้ำ กระจายตัวกันกลับบ้านทันที และพร้อมใจกันปิดปากเงียบเรื่องไม้กระดาน

พอตกเย็น ก็เป็นเวลาของละครแม่นาคพระโขนง ซึ่งเป็นละครที่พ่อแม่ติดกันงอมแงม แต่เด็กๆ ไม่ชอบ ก็แหม…มันน่ากลัวจะตาย ในช่วงนั้นทั้งหมู่บ้านมีทีวีขาวดำแค่เครื่องเดียว เจ้าของคือคนที่เป็นเจ้าของตลาดสด (ที่น่าจะรวยที่สุดในหมู่บ้าน) ทุกคนในหมู่บ้านจะมารวมกันที่บ้านหลังนี้ รวมทั้งพ่อแม่ของพวกเราด้วย ไอ้เราหรือไม่อยากมา แต่ก็จำเป็นต้องมา เพราะการอยู่บ้านคนเดียวดูจะหวาดเสียวและวังเวงกว่าการมาดูละครกับคนอื่นๆ ภาพที่จำได้ก็คือ เด็กๆ จะรวมตัวกันเป็นกระจุกอยู่หน้าทีวี ล้อมรอบไปด้วยผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อแม่ พอถึงตอนผีแม่นาคออกมาทีไร ไอ้กระจุกที่อยู่ตรงกลางก็จะกอดกันกลมพร้อมกับหวีดร้องสนั่นหวั่นไหว นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงจริงๆ

นอกจากเรื่องเล่นกับดูทีวีแล้ว สิ่งหนึ่งที่เด็กบ้านนอกอย่างเราได้รับจากพ่อและแม่คือ วิถีการใช้ชีวิตแบบชนบท เช่น การจับกบ ถ้าเป็นกบตัวโตจะชอบอยู่ตามพงหญ้าข้างคลอง เราก็จะใช้ “ยอ” วางกั้นระหว่างหญ้ากับคลองไว้ เมื่อเอาไม้ตีไปที่พงหญ้า ถ้ามีกบมันจะกระโดดลงคลอง ซึ่งจะไปติดตาข่ายของยอที่เราดักไว้ เราก็จะจับกบตัวโตๆ ได้ ในขณะที่กบตัวเล็กหรือเขียดจะมีนิสัยชอบฝังตัวอยู่ในนาข้าว หากเราเห็นว่าระหว่างต้นข้าวมีรอยแตกของดิน ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับลงไปที่รอยแตก หากมีเขียดอยู่ในนั้น เราจะสามารถคีบเอวของเขียดติดมือขึ้นมาได้ทันที

หรือในกรณีของการจับปลาซิวตัวเล็กๆ โดยใช้ยอ โดยเฉพาะเวลาที่น้ำหลาก ปลาจะชุมมาก บางทีตกครั้งหนึ่งได้ปลาซิวเต็มกำมือ มันตื่นตาตื่นใจเสียจนเคยขาดเรียนเพราะสนุกกับการจับปลานี่แหละ เรื่องของเรื่องก็คือวันนั้นเป็นวันเปิดเรียนตามปกติ ขณะกำลังขี่จักรยานผ่านคลองเล็กๆเพื่อไปเรียนหนังสือ ปรากฏว่าเจอกับป้าข้างบ้านกำลังตกปลาอยู่ ได้ปลาทีละกำมือ โหย…อยากตกแบบนั้นได้บ้าง และเนื่องจากป้ามียอสองหลัง จึงขอเป็นผู้ช่วยแล้วก็เพลินกับมันเสียจนไม่สนใจอะไร เวลาผ่านไปประมาณครึ่งหรือหนึ่งชั่วโมง (จำไม่ได้ชัด เพราะมัวเพลิดเพลินอยู่) ก็มีผู้ชายคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซด์มาจอดใกล้ๆ แล้วตะโกนว่า “นี่….(ชื่อเรา)ไปเรียนหนังสือได้แล้ว” ทำเอาตกใจ และยิ่งตกใจกว่านั้น เพราะพอหันไปก็พบว่าผู้ชายคนนั้นคือครูใหญ่โรงเรียนเราเอง (ฮ่าๆๆ มาตามนักเรียนที่ไม่ไปเรียนเพราะหลงใหลกับการตกปลา) จนทุกวันนี้เวลาเจอครูใหญ่ที่โรงเรียนเก่าท่านก็มักจะพึมพำดังๆว่า “ไม่เข้าใจว่า …(ชื่อเรา) มาเป็นอาจารย์ได้ยังไง เพราะตอนเด็กชอบแต่ตกปลา ไม่ชอบเรียนหนังสือ” และถ้าพ่ออยู่ตรงนั้นด้วย ก็จะเสริมว่า “ยิ่งตอนอนุบาลยิ่งไปกันใหญ่ เวลายกขึ้นซ้อนจักรยานเพื่อไปส่งที่โรงเรียน ถ้ายกขึ้นทางซ้ายก็จะรีบตระกายลงทางขวา ถ้าขึ้นขวาก็ลงซ้าย จนพ่อกับแม่อ่อนใจต้องพาไปทำนาด้วย แล้วมาเป็นอาจารย์ได้ไงฮึ ไม่เข้าใจจริงๆ”

นั่นสินะ ไม่เข้าใจตัวเองจริงๆ คงเป็นกรรมเวรของการไม่ชอบไปโรงเรียนตั้งแต่ครั้งยังเด็กแน่ เลยถูกลงโทษให้เป็นครูบาอาจารย์ซะให้เข็ด…เฮ้อ

ใส่ความเห็น