ชัยชนะเหนือความขี้เกียจ

มีคนบอกไว้ว่า “ความขี้เกียจ” (Sloth) คือ นิสัยที่ชอบหยุดพักผ่อนก่อนที่จะรู้สึกเหนื่อย และเหตุผลที่เราเอาชนะมันไม่ค่อยได้ เพราะเราไม่รู้จักมันดีพอ 

ในบทความเรื่อง “The Lure of Laziness” ของ ดร.นานโด เปลูซี (Nando Pelusi) ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า บรรพบุรุษของคนเรามีสัญชาตญาณที่จะสงวนพลังงานในร่างกายไว้ให้มากที่สุด เพราะในยุคโบราณ อาหารเป็นสิ่งที่หาได้ยาก อีกทั้งยังมีอันตรายมากมายรออยู่ภายนอก เช่น สัตว์ร้าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯลฯ สัญชาตญาณนี้จึงตกทอดอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ที่จะไม่ยอมทำอะไรที่ต้องใช้ความทุ่มเทหรือพลังงานสูงๆ ตราบใดที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่าหรือไม่ พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อปัจจัยที่แวดล้อมอยู่รอบตัวไม่ได้สร้างความมั่นใจเพียงพอ เราก็จะเกิดความรู้สึกอยากประวิงเวลาที่จะต้องลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้นานออกไป เมื่อเทียบกับมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ พวกเขาต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีเวลาหยุดคิด เช่น หิวต้องล่าสัตว์ กลัวต้องวิ่งหนี พายุมาต้องหลบทันที  ผิดกับมนุษย์ยุคนี้ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยทางสังคมและจิตใจที่ซับซ้อนกว่า และต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเห็นผลลัพธ์ของการกระทำ และนี่จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมบางคนต้องรอให้ถึงเส้นตายก่อนเท่านั้น จึงจะทำงานเสร็จหรือทำได้ดี (อ้างอิงข้อมูลจากนิตยสาร Secret)

นอกจากความขี้เกียจจะเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเราแล้ว ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้เรารู้สึกเฉื่อยชา (หรือขี้เกียจ) กับเรื่องที่ควรทำ เช่น ความอ่อนเพลีย ความต้องการความสุขสบาย ความกลัวความล้มเหลว การขาดแรงจูงใจ รวมไปถึงปัจจัยที่เกิดจากพันธุกรรมหรือสารเคมีในสมอง (ว่ากันว่าในคนแต่ละคนมี Gene ของความกระฉับกระเฉงไม่เท่ากัน)

ในเชิงพุทธศาสนา ต้นเหตุของความขี้เกียจคือนิวรณ์ 5 ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ขวางกั้นจิตไม่ให้มีสมาธิ ทำให้ไม่สามารถทำสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จได้ ได้แก่ กามฉันทะ (ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) พยาบาท (ความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ) ถีนมิทธะ (แยกได้เป็น ถีนะ คือ ความหดหู่ ท้อถอย และ มิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน) อุทธัจกุกกุจจะ (แยกได้เป็น อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน และ กุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจ)  และ วิจิกิจฉา (ความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ)

ในชีวิตจริง ต้องยอมรับว่าการเอาชนะความขี้เกียจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเรามักจะมีเหตุผลสนับสนุนความขี้เกียจของตัวเองแบบหนักแน่นเสมอ เช่น ไม่มีเวลา ไม่ชอบงานที่ทำ เหนื่อย ดังนั้นจึงมีคนเสนอวิธีการเอาชนะความขี้เกียจแบบง่ายๆ คือการฟิตร่างกายให้แข็งแรง ได้แก่ การออกกำลังกายตอนเช้า ทานอาหารเช้า ทานผักมากกว่าเนื้อ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และกินไขมันดี (เพื่อช่วยให้เซลล์ประสาทในสมองรับส่งข้อมูลได้ดี) และพยายามปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อเอาชนะใจตัวเอง ได้แก่ (พยายาม)รักในสิ่งที่จะทำ ลงมือทำทันที ห้ามพูดว่า “ทำไม่ได้” แบ่งงานออกเป็นส่วนๆ (ทำทีละส่วนให้เสร็จ จะได้รู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ) จดจ่อกับเป้าหมาย ให้คำมั่นสัญญากับตัวเอง (ถ้าบอกคนอื่นด้วย ก็จะสร้างแรงผลักดันได้ดีกว่า) อย่าหวังผลแบบเร่งด่วน (ความสำเร็จบางครั้งต้องรอคอย) และให้รางวัลกับตัวเอง (อย่าให้ก่อนงานเสร็จ…เพราะการให้ก่อนงานเสร็จ จะหมายถึงการหยุดพักผ่อนก่อนที่จะรู้สึกเหนื่อย และจะทำให้ตกอยู่ในวงจรของ “ความขี้เกียจ” อีกครั้ง)

เช้านี้จึงตื่นขึ้นมาแล้วพาตัวเองไปว่ายน้ำ (รู้สึกถึงชัยชนะเหนือความขี้เกียจที่เป็นอยู่มานาน…) และก็ได้แต่หวังว่าจะสามารถออกกำลังกายได้ต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นับจากนี้ไป (ให้กำลังใจตัวเอง…สู้โว้ย)

DSCF0064

ใส่ความเห็น