เรื่องของ violence, harassment และ bullying

เมื่อวานนั่งทานข้าวกับเพื่อนแล้วคุยกันถึงเรื่อง ความรุนแรง (violence) และการถูกกลั่นแกล้งหรือถูกคุกคาม (harassment) ว่าต่างกันหรือไม่อย่างไร เลยอดหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้ จนได้ไปเจอกับบทความเรื่องหนึ่งที่พูดถึงสองเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องของการถูกข่มเหงรังแก (bullying) ในสถานที่ทำงาน จึงคิดว่าควรนำมาแบ่งปันให้คนที่อ่าน blog ได้ทราบกันค่ะ

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้ความหมายของ “workplace violence” ไว้ว่า คือ “การกระทำใดๆ อันเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของบุคคลหนึ่งต่อบุคคลอื่นในสถานที่ทำงาน โดยการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกเสียใจ (hurt) ถูกคุมคาม (threatened) อับอาย (humiliated) หรือบาดเจ็บ (injured)

ในขณะที่ “workplace harassment” จะเน้นไปที่ลักษณะต่างๆ ของการเลือกปฏิบัติ (discremination) ของบุคคลหนึ่งต่อบุคคลหนึ่งในการทำงาน เช่น ระหว่างผู้ร่วมงานด้วยกัน หัวหน้า หรือลูกค้า โดยทั่วไปความหมายของการถูกกลั่นแกล้งจะมีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ลักษณะของการกระทำที่ผู้ถูกกระทำไม่ชอบ (unwelcome) หรือไม่ต้องการให้เกิดขึ้น (unsolicited)  ที่พบบ่อยก็คือการถูกคุมคามทางเพศ (sexual harassment)

สำหรับการถูกข่มเหงรังแก (bullying) ว่ากันว่า เป็นหนึ่งในพฤติกรรมก้าวร้าวที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้รับจากบุคคลอื่นซ้ำๆ ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกอับอาย ซึ่งมักเกิดกับคนที่อ่อนแิอกว่าคนอื่นๆ โดยในแง่ของการทำงาน พบว่าร้อยละ 18 ของปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานเป็นผลมาจากปัญหาการถูกข่มเหงรังแก และปัญหาดังกล่าวยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดงานของคนงานเป็นระยะเวลานานๆ (ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป)

angry-guy

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังคงมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องของ violence, harssment และ bullying อยู่หลายอย่าง เช่น

1) เชื่อว่า: ความรุนแรงทางกายหรือการถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงานเกิดขึ้นจากเพื่อนร่วมงานในองค์กรเท่านั้น (ผลจากการวิจัยระบุว่าความรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากเพื่อนร่วมงานพบเพียง 0.5% ในขณะที่มีสาเหตุมาจากบุคคลภายนอกพบถึง 1.93% และเมื่อเปรียบเทียบประเภทของการทำงาน พบว่า ในงานที่ต้องพบปะผู้คนมากๆ เช่น งานด้านสังคมและสุขภาพ พบความรุนแรงในที่ทำงานเกือบ 13% ใงานในโรงแรมหรือร้านอาหาร พบ 7% และงานขนส่งและการศึกษาพบเพียง 5%)

2) เชื่อว่า: ระดับของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่ทำงานไม่มีวันเปลี่ยน (ผลจากการวิจัยในยุโรปพบว่า ความรุนแรงในที่ทำงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีการทำงานประเภทใดเลยที่พบว่ามีระดับของความรุนแรงลดลง และกลุ่มงานที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ งานโรงแรม งานบริการสาธารณะ และงานให้บริการสุขภาพ)

3) เชื่อว่า: ความรุนแรงในที่ทำงานมีเพียงการทำร้ายร่างกาย (ผลการวิจัยพบว่า การถูกกระทำความรุนแรงทางจิตใจพบมากเป็นสองเท่าของการถูกทำร้ายทางกาย คือประมาณ 9:4 % )

4) เชื่อว่า: ผลการวิจัยครอบคลุมความรุนแรงในที่ทำงานทุกชนิด (จากแนวคิดเกี่ยวกับความรุนแรงในที่ทำงานที่ค่อนข้างกว้าง มีหลายมิติและเป็นปรากฎการณ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้งานที่วิจัยในช่วงที่ผ่านมา ไม่สามารถสะท้อนปัญหาความรุนแรงในที่ทำงานได้อย่างครอบคลุม นอกจากนี้ลักษณะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์หรือที่ทำงานที่มีบริบทต่างกัน ก็ทำให้การให้นิยามความหมายของความรุนแรงในที่ทำงานมีความแตกต่างกันด้วย)

5) เชื่อว่า: มีการรายงานความรุนแรงในที่ทำงานที่เกิดขึ้นทุกครั้ง (ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า มากกว่า 50% ของการเกิดความรุนแรงในที่ทำงานไม่มีการรายงาน ร้อยละ 40 ของเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงไม่รายงานเนื่องจากคิดว่า “เป็นเรื่องเล็กน้อย” หรือ “เป็นเรื่องส่วนตัว” ในขณะที่ร้อยละ 33 ไม่บอกเหตุผลว่าทำไมจึงไม่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น)

6) เชื่อว่า: เหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงในที่ทำงานเชื่อในระบบยุติธรรมและกลไกของระบบยุติธรรมนั้น (ผลการสำรวจในประเทศฝรั่งเศสพบว่า ร้อยละ 65 ของประชากรสารภาพว่า “รู้สึกกลัวระบบยุติธรรม” ส่วนอีกร้อยละ 54 ระบุว่าระบบยุติธรรม “ไม่ ยุติธรรม” ในขณะที่ในประเทศสเปนพบว่าในการพิจารณาคดีพิพาท 400 คดี 16% ของคดีเหล่านี้เกิดจากการข่มแหงรังแกกันในที่ทำงาน และดูเหมือนจะเกิดคดีแบบนี้ทุกๆ สัปดาห์ก็ว่าได้)

7) เชื่อว่า: เหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงในที่ทำงาน มักโทษว่าเป็นความผิดของตนเองเพียงฝ่ายเดียว (มีคำกล่าวว่า 50% ของคนทั่วไปมักโทษตัวเองเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ขึ้นกับตัวเอง อย่างไรก็ตามในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีการทำงานร่วมกับผู้อื่น บ่อยครั้งเมื่อเกิดความรุนแรงในที่ทำงานขึ้น เรามักคิดว่าอย่างน้อยน่าจะมีคนเตือนกันบ้าง เพราะสาเหตุของการเกิดความรุนแรงในที่ทำงานส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของคนทำงานทั้งฝ่ายที่เป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่อาจโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อเพียงฝ่ายเดียว)

8) เชื่อว่า: ความรุนแรงในที่ทำงานไม่เป็นอันตราย (ว่ากันว่าความเจ็บปวดที่เหยื่อได้รับจากการถูกทำร้ายร่างกายไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ร่างกายเท่านั้น หลายคนยังเกิดบาดแผลทางอารมณ์ด้วย และทำให้เกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังตามมา ดังนั้นในประเทศสเปนและฝรั่งเศสจึงระบุว่าคดีพิพาทที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายในที่ทำงานถือเป็นอุบัติเหตุจากการทำงาน (labour accident) ชนิดหนึ่ง)

9) เชื่อว่า: ความรุนแรงในที่ทำงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (จากความเืชื่อที่ว่าความรุนแรงในที่ทำงานเป็นผลมาจากพฤติกรรมของคนงาน นำไปสู่ทัศนคติที่ว่าหากภาระงานไม่มากเกินไป สภาพแวดล้อมในการทำงานดี มีการปฏิบัติต่อกันหรือพูดคุยกันด้วยความสุภาพ และมีความพึงพอใจในงานสูง ก็จะทำให้คนงานเปลี่ยนท่าทีหรือลดพฤติกรรมที่รุนแรงลงได้)

10) เชื่อว่า: ค่าใช้จ่ายในการป้องกันแพงกว่าการช่วยเหลือหลังเกิดความรุนแรง (ความสูญเสียที่เกิดจากความรุนแรงในที่ทำงานนั้นมีมากมาย เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษาและฟื้นฟูสภาพกายและจิตใจของเหยื่อที่ถูกกระทำ ในขณะที่สถานประกอบกิจการเองก็อาจมีผลผลิตต่ำลงจากการขาดงานของคนงาน ซึ่งอาจรวมไปถึงคุณภาพและปริมาณในการผลิตงานลดลงเนื่องจากสภาพกายและใจของคนงานไม่สมบูรณ์ ฯลฯ)

อ้างอิงจาก:

Serantes, N. P. & Saurez, M. A. (2006). Myths about workplace violence, harassment and bullying. Inter J of the Sociology of Law, 34, 229-238.

Shannon, C. A, Rospenda, K. M. & Richman, J. A. (2007). Workplace harassment patterning, gender, and utilization of professional services: finding from a US national study. Social Science & Medicine, 64, 1178-1191.

Baruch, Y. (2005). Bullying on the net: adverse behavior on e-mail and its impact. Information & Management, 42, 361-371.

3 ความเห็นบน “เรื่องของ violence, harassment และ bullying”

  1. เรื่องนี้น่าสนใจมากค่ะ ไม่ทราบว่าพอมีฉบับที่แปลเป็นไทยมั๊ยคะ พอดีภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงค่ะ ^^ Workplace harassment patterning, gender, and utilization of professional services: finding from a US national study

    ถูกใจ

  2. พอดีว่าตอนนี้ทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องbullying อยู่ แล้วอยากทราบว่าในประเทศไทยได้มีนโยบายหรือแนวทางอะไรที่ได้สร้างขึ้นเพื่อต่อต้านหรือลดการbullyบ้างมั้ยอ่ะค่ะ เพราะในภาษาไทยยังไม่มีคำจำกัดความสำหรับคำว่าbullyingเลย ตอนนี้ยังหาข้อมูลเกี่ยวกับbullying in thailand ไม่ได้อ่ะค่ะ 😦

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น