เราเรียนรู้ที่จะสิ้นหวังกันหรือยัง?

มีโอกาสได้อ่านบทความเรื่อง “เรียนรู้ที่จะสิ้นหวัง” ของ ดร.รัชนีวรรณ วนิชย์ถนอม ในมติชนสุดสัปดาห์ แล้วชอบมาก อ่านแล้วก็มานั่งครุ่นคิดว่า เราเป็นผู้ที่ผ่านการเรียนรู้ที่จะสิ้นหวังหรือยังนะ…

suicide

ว่ากันว่า การเรียนรู้ที่จะสิ้นหวัง (learned helplessness) หมายถึง สถานการณ์ที่คนหรือสัตว์แสดงความสิ้นหวัง แม้ว่าเขามีโอกาสที่จะทำอะไรบางอย่างที่หลุดพ้นไปจากสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงใจหรือมีอันตราย คือเลือกที่จะไม่ทำอะไรทั้งสิ้น ทฤษฎีนี้มีต้นกำเนิดมาจากนักจิตวิทยาอเมริกัน ชื่อ Seligman ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 โดย Seligman และเพื่อนร่วมงานได้ทำการทดลองกับสุนัข 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ถูกใส่ปลอกคอระยะหนึ่งแล้วปล่อย กลุ่มที่ 2 ถูกใส่ปลอกคอแล้วถูกช็อตด้วยไฟฟ้าจนกว่ามันจะกดคานไฟฟ้าจึงจะหยุดช็อต ส่วนกลุ่มที่ 3 ถูกใส่ปลอกคอและช็อตด้วยไฟฟ้าเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะกดคานอย่างไร ไฟฟ้าก็ไม่หยุดช็อต

หลังจากนั้น สุนัขทั้งหมดจะถูกนำไปขังในกล่องทดลองที่ผ่านกระแสไฟฟ้าไปช๊อตสุนัข แต่สุนัขสามารถกระโดดข้ามที่กั้นเตี้ยๆ หนีการช็อตออกมาได้ ปรากฎว่า สุนัขกลุ่มที่ 1 และ 2 กระโดดหนีกันออกมาได้ แต่สุนัขกลุ่มที่ 3 ซึ่งเรียนรู้มาจากการทดลองแรกว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการถูกช็อตด้วยไฟฟ้าได้ (ผ่านการเรียนรู้ที่จะสิ้นหวัง) มันจึงได้แต่นอนครวญครางโดยไม่ยอมทำอะไร

อย่างไรก็ตาม ในการทดลองเขาก็พบว่า ประมาณหนึ่งในสามของสุนัขที่ผ่านการทำให้สิ้นหวังแล้วยังคงหาทางหลบหนีไปจากสถานการณ์ที่ถูกไฟฟ้าช็อตได้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับคน ก็คือ คนที่ไม่สิ้นหวังคือคนที่ยังคงมองโลกในแง่ดี และมองว่าสถานการณ์เลวร้ายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตลอดไป ส่วนคนที่มองโลกในแง่ร้ายและเกิดความสิ้นหวังอย่างมาก ก็จะนำไปสู่สภาวะซึมเศร้า และบางรายอาจคิดฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

ในแง่ของการทำงาน การเรียนรู้ที่จะสิ้นหวังมีความสำคัญมาก เพราะคนที่สิ้นหวังและคิดว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ จะเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย ส่วนใหญ่มักจะพบในคนที่ทำงานตำแหน่งเดิมๆ มาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่มีความก้าวหน้าจำกัด (ถึงทางตัน)  คนทำงานส่วนหนึ่งจึงมักแสดงพฤติกรรมคล้ายกับผู้ที่เรียนรู้ที่จะสิ้นหวัง ได้แก่

หลีกเลี่ยงการตัดสินใจในงาน เพราะคนที่ไม่ตัดสินใจคือคนที่จะไม่ทำอะไรผิดพลาด (ไม่ทำอะไร…จะทำผิดไ้ด้อย่างไร) ไม่มีจุดยืนเลย ไม่ว่าจะเป็นทางวิชาการหรือความคิดเห็น ผู้บังคับบัญชาว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น (ปลอดภัยดี ไม่เคยมีการขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา) เมื่อมีความผิดพลาดหรือความล้มเหลวเกิดขึ้น รีบมองหา “แพะ” ทันที (ซึ่งไม่ใช่ตัวเขาแน่…เพราะเขาไม่เคยทำอะไร)

อ่านบทความนี้แล้ว ต้องกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่า เรามีพฤติกรรมอยู่ในกลุ่มเรียนรู้ที่จะสิ้นหวังประเภทไหน เพราะเชื่อแน่ว่าในการทำงานจริง ทุกคนล้วนผ่านประสบการณ์แบบสุนัขกลุ่มที่ 3 กันมาบ้าง (ไม่มากก็น้อย) ตอนนี้เราเป็นพวกที่พยายามอีกครั้งเพื่อที่จะก้าวพ้นปัญหาให้สำเร็จ (พร้อมความหวังใหม่) หรือ…ยังคงเป็นพวกที่นอนร้องครวญครางอยู่กับที่…

อ้างอิงจาก:
รัชนีวรรณ วนิชย์ถนอม. (2552). เรียนรู้ที่จะสิ้นหวัง. มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 29, ฉบับที่ 1523; หน้า 37.

2 ความเห็นบน “เราเรียนรู้ที่จะสิ้นหวังกันหรือยัง?”

ใส่ความเห็น