“นิ้วโป้ง” กับ การยศาสตร์

ว่ากันว่า หลังจากที่ PDA และโทรศัพท์มือถือเริ่มวางตลาด ความสะดวกสบายในการใช้ internet เพื่อเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น ด้วยความสะดวกสบายดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้หลายคนหมกมุ่นกับการใช้ อุปกรณ์เหล่านั้นแบบไม่คิดถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่จะตามมา

คำถามคือ PDA หรือโทรศัพท์มือถือมีผลกระทบต่อสุขภาพด้วยหรือ? คำตอบคือ มีแน่นอนหากใช้มากหรือนานเกินไป กลไกการเกิดปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ใช้ PDA หรือโทรศัพท์มือถือไม่ได้ใช้เครื่องมือเหล่านี้สำหรับการบันทึกข้อมูลสำคัญหรือโทรศัพท์ติดต่อผู้อื่นเท่านั้น แต่หลายคนใช้สำหรับการส่ง e-mail หรือส่งข้อความ 20-30 ข้อความต่อวันโดยใช้นิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วโป้งในการกดใช้งานเป็นหลัก

ข้อมูลจากนักอาชีวบำบัด นักกายภาพบำบัด และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการยศาสตร์ระบุว่า “เนื่องจากนิ้วโป้งไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะทำงานแบบซ้ำๆ การใช้นิ้วโป้งที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นยึดบริเวณรอบๆ นิ้วได้” นอกจากนี้ท่าทางที่ไม่เหมาะสมขณะใช้ PDA หรือโทรศัพท์มือถือ เช่น การเอียงหรือก้มศีรษะและการยกไหล่ข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป อาจทำให้เกิดแรงกดต่อกระดูกสันหลังบริเวณคอ (cervical spine) ส่งผลให้เกิดปัญหาในระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อหลายๆ อย่างตามมาได้

นอกจากนี้ การส่งข้อความหรือการเล่นเกมโดยการกดปุ่มขนาดเล็กบนแป้น PDA หรือโทรศัพท์มือถือ ทำให้ต้องบังคับนิ้วมือให้อยู่ในท่าที่สะดวก แต่ท่าดังกล่าวทำให้ผู้ใช้ต้องมีการเบี่ยงเบนข้อมือและข้อนิ้วมือแบบผิดปกติ ส่งผลให้เกิดแรงกดตามข้อและเอ็นยึดกล้ามเนื้อต่างๆ ทำให้เกิดเอ็นอักเสบ (endonitis) หรือการอักเสบบวมของข้อ (joint imflamation and bursitis) ตามมา ข้อมูลระบุว่าผู้ใช้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อย โดยเฉพาะวัยรุ่น

phone

เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพในระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อทั่วๆไป การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการใช้ PDA หรือโทรศัพท์มือถือสามารถป้องกันได้ ในฐานะของผู้ที่ต้องให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้ เช่น แพทย์หรือพยาบาล ควรอธิบายให้ผู้ใช้เข้าใจถึงวิธีการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสม (ไม่ใช้ส่งข้อความหรือเล่นเกมส์นานเกินไป คือ ไม่เกิน 3 นาที/ครั้ง กรณีที่ต้องส่งข้อความยาวๆ ควรย่อคำ เพื่อลดระยะเวลาการพิมพ์ หรือหากจำเป็นต้องส่งข้อความปริมาณมากๆ ควรใช้คอมพิวเตอร์แทน) และควรบอกถึงผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น กรณีที่เป็นเอ็นอักเสบ ซึ่งหากเกิดขึ้นเรื้อรังก็จะส่งผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณข้อมือ ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือดและการทำหน้าที่ของมือและข้อมือที่ผิดปกติได้ (เช่น งอได้น้อยลง  จับของไม่แน่น หรือปวดเวลาใช้งาน)

ข้อแนะนำสำหรับกรณีที่ไม่สามารถจำกัดการใช้ได้ ก็คือการป้องกันการเกิดอาการข้อนิ้วโป้งอักเสบหรือปวดโดยการออกกำลังมือ วิธีการคือใช้หนังยางขนาดใหญ่คล้องรอบนิ้วทั้งห้า แล้วพยายามถ่างนิ้วโป้งออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ ควรปรับท่าทางในการใช้ PDA หรือโทรศัพท์มือถือให้ถูกต้อง นั่นคือ ไหล่ตรง ยกคางขึ้น เงยหน้า (ดีกว่าก้ม) สำหรับพ่อแม่ที่ลูกๆ ชอบเล่นเกมส์ ควรจำกัดเวลาการเล่นเกมส์ของเด็ก

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดอาการปวดหรืออักเสบแล้ว “การพัก” คือวิธีการที่ดีที่สุด นอกจากนี้ผู้ใช้ทุกคนควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักเบื้องต้นของการยศาสตร์ (ergonomic) ได้แก่

1) ความสบายและการจัดวางท่าทาง (comfort and posture)
ได้แก่ การจัดสิ่งแวดล้อมให้สบายและเอื้อต่อการทำงานหรือพักผ่อนด้วยท่าทางที่ผ่อนคลาย เมื่อต้องใช้ PDA หรือโทรศัพท์มือถือ ควรจัดข้อมือให้ตรงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลีกเลี่ยงการหักงอข้อมือขึ้นหรือลงมากเกินไป ลดการก้มหรือเอี้ยวคอ พยายามพักแขนและวางไว้ด้านข้างของลำตัวแบบสบายๆ (เช่น วางแขนทั้งสองข้างบนที่พักแขนของเก้าอี้ หรือถ้านั่งบนเตียงหรือโซฟา ควรใช้หมอนรองแขนทั้งสองข้าง) และควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง
2) การใช้แรง (force)
ได้แก่ การจับอุปกรณ์แบบเบามือ ไม่เกร็งมือหรือข้อมือมากเกินไป
phone2
3) ระยะเวลาและความถี่ในการใช้ (length and frequency of use)
ได้แก่ การจัดช่วงเวลาพักหรือการทำงานอื่นสลับกับการใช้ PDA หรือโทรศัพท์ เพื่อลดการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งนานเกินไป เพราะยิ่งระยะเวลาและความถี่ในการใช้สูงมากเท่าใด ก็มีโอกาสเกิดผลกระทบต่อสุขภาพมากเท่านั้น
4) สุขภาพโดยรวม (overall health)
เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่อาจส่งผลต่ออาการปวดในระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ  ดังนั้น การรับประทานอาหารอย่างสมดุล การออกกำลังกายและการฝึกยึดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ รวมทั้ง การจัดการกับความเครียด ล้วนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ควรรอให้เกิดอาการเจ็บปวดมากๆแล้วถึงไปพบแพทย์ การเกิดอาการชา ปวดแบบแปล๊บๆ หรือบวม ล้วนเป็นสัญญาณว่าเกิดความผิดปกติกับร่างกาย และเป็นสัญญาณว่าควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสมอีกด้วย

อ้างอิงจาก:
Nataliya Schetchikova (2008). Thumps up: beware of new ergonomic hazards. ACAnews, November, p 24-26.

ใส่ความเห็น