Expedition Linnaeus

นับจากที่ได้ดูหนังสารคดีเรื่อง Home เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ยังไม่เจอหนังเรื่องไหนที่ดูแล้วประทับใจอีก จนกระทั่งวันนี้ได้มีโอกาสไปดูหนังสารคดีเรื่อง Expedition Linnaeus ซึ่งเป็นหนังสวีเดน หนึ่งในบรรดาหนังหลายเรื่องที่นำมาฉายใน European Union Film Festival 2009 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5-15 พฤศจิกายน ณ เซ็นทรัลกาดสวนแก้ว เชียงใหม่ (ที่กรุงเทพจะเริ่มวันที่ 19-29 พฤศจิกายน ที่ Central World เผื่อใครที่ชื่นชอบหนังดีๆ แบบนี้จะได้ไปหาชมกันค่ะ)

Expedition Linnaeus เป็นหนังที่สะท้อนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับโลกผ่านแนวคิดของนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) เพื่อให้เราได้รู้ว่าวิทยาศาสตร์และการค้นคว้าวิจัยมีส่วนช่วยให้โลกเราดีขึ้นอย่างไร และเราควรจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อจะได้มีชีวิตรอดในอนาคต

สำหรับคนที่เคยเรียนชีววิทยามาเมื่อสมัยมัธยม คิดว่าคงคุ้นๆ กับชื่อของลินเนียส เพราะเขาคือผู้ริเริ่มการจัดแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ ซึ่งถูกนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบทวินาม ซึ่งมีประโยชน์ในการศึกษาชีววิทยาต่อมาจวบจนปัจจุบัน โดยชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตที่จัดจำแนกโดยเขา จะลงท้ายด้วย L. หรือ Linn. (พืช) หรือ Linnaeus (สัตว์) เพื่อเป็นการให้เกียรติ

496px-Carl_von_Linné

หนังนำเราไปพบกับช่างภาพและผู้ำกำกับหนังชื่อ Mattias Klum ผู้ที่นิยมถ่ายภาพและผลิตสารคดีเกี่ยวกับธรรมชาติ (ดูเหมือนว่าจะผลิตให้กับ  National Geography เนื่องจากเห็นใส่หมวกของ NG อยู่ และเนื่องจากหนังเป็นภาษาสวีเดน และ subtitle เป็นภาษาอังกฤษ จึงทำให้ไม่ค่อยทราบรายละเอียดในส่วนของการสร้าง) และจากความสามารถในภาษาอังกฤษแบบอ่อนด้อยของผู้เขียน ก็พอจะทราบว่า เขาตั้งคำถามว่า การที่พืชและสัตว์จำนวนมากต้องสูญพันธุ์และกำลังจะสูญพันธุ์นั้น หมายความว่าอย่างไร…อะไรกำลังจะเกิดกับโลกใบนี้ และเราจะรับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงอย่างไร

Kopia+av+FMisvalvLU+278pixlarBred

แล้ว Klum ก็พาเราไปสัมผัสกับชีวิตของพืชและสัตว์ในบริบทของพื้นที่ทั้ง 7 ทวีปทั่วโลก พร้อมกับนักศึกษา 3 คน ที่ถือเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ (รุ่นที่ต้องรับผลกระทบ…และต้องหาทางแก้ไขปัญหา) ภาพในหนังสวยงามมาก อาจเป็นเพราะผู้กำกับเป็นช่างภาพที่เก่ง เขาจึงถ่ายรูปออกมาได้มีชีวิตชีวาและติดตรึงใจ หมายความว่าที่ต้องการให้สวยมันก็สวยมาก ที่ต้องการให้เราจดจำโดยเฉพาะใบหน้าและท่าทางของคนในภาพ มันก็ออกมา “โคตร” จะงดงามและได้อารมณ์ (เชื่อว่าคนที่ชอบถ่ายภาพต้องชอบแน่นอน) และมีภาพครบทั้งสามภพ คือ ท้องฟ้า พื้นดิน และใต้น้ำ

บอกตามตรงว่าตอนที่ดูหนังนั้น โคตรจะอิจฉานักศึกษาทั้งสามคนที่ร่วมเดินทางไปถ่ายภาพกับ Klum เพราะถึงแม้จะแยกกันไปในแต่ที่ แล้วนำภาพมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มันก็คุ้มสุดคุ้มกับการเดินทางแบบนี้ เพราะได้ทั้งประสบการณ์และการเรียนรู้ผ่านสังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย แต่สะท้อนออกมาเหมือนกันคือ “โลกกำลังเปลี่ยนไป” (ในทางที่แย่ลง)

มีคำถามมากมายในหนังที่คนดูต้องกลับมาคิดต่อ และ “ลงมือทำ” เพราะแค่คิดไม่มีทางที่จะทำให้โลกเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับคำพูดที่ว่า “Think Globally, Act Locally” เชื่อกันว่าคนทุกคนในโลกใบนี้สามารถทำให้โลกดีขึ้นได้ เริ่มต้นจากรักตัวเอง รักครอบครัว รักงานทีีี่ทำ รักชุมชน รักประเทศ รักโลก… เพราะหากเรารักตัวเอง…เราจะไม่ทำร้ายโลกที่เราอยู่ หากเรารักครอบครัว…เราจะไม่ทำร้ายโลกของคนที่เรารัก ฯลฯ (ตรงนี้ไม่มีในหนังค่ะ แต่คิดว่าเป็นประเด็นที่คิดได้จากการดูหนัง) โดยเฉพาะเรื่องของความรักในงานที่ทำ สำหรับคนที่อยู่ในวงการวิชาการและวิจัย ว่ากันว่า หากเราชอบในสิ่งที่เราทำ เราจะมีความสุขกับมัน และจะทำให้เกิดความกระตือรือร้น มีพลังที่พร้อมจะสร้างสรรค์งานที่ดีและมีประโยชน์กับโลก

ถามตัวเองอีกครั้ง…วันนี้เราทำอะไรเพื่อโลกบ้างหรือยัง?
ถ้ายัง ลองไปดูหนังเืรื่องนี้กันนะคะ เผื่อจะได้คำตอบ…